postheadericon ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย

 

 

    นะโมตัสสะภะคะวะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะฯ  

               ปมาโทมฺจจุโนปทํ  

    ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย  

               เยปมฺตตายถามตา 

    ชนทั้งหลายเหล่าใดประมาทแล้วก็เหมือนคนตายแล้ว

    ณ  โอกาสนี้จักได้บรรยายขยายความในธรรมพุทธสุภาษิต  ที่ได้ลิขิตไว้เบื้องต้น

เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา แลนำไปประพฤติปฏิบัติสืบต่อไป  

ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย   คนที่ตายแล้วย่อมเปรียบเหมือนท่อนไม้ และท่อนฟืน  หาประโยชน์อะไรไม่ได้   คนที่หาประโยชน์อะไรไม่ได้  ย่อมไม่มีสาระแก่นสารให้กับทางเดินของชีวิต   ใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ย่อมขาดทุนอยู่ร่ำไป   ความตายของผู้ประมาทคือตายไปแล้วจาก คุณธรรมความดีทั้งหลายเปรียบดังสุภาษิตว่า  ปลาที่ไหลไปตามกระแสน้ำคือปลาที่ตายแล้ว  เปรียบดังปลาที่ตายแล้วย่อมไหลไปตามกระแส  แรงดึงดูดของโลกแรงดึงดูดในโลกโลกียะ คือ  รูป  รส  กลิ่น เสียง  สัมผัส ธรรมารมณ์  และขันธ์ทั้ง ๕  อันมีรูป เป็นต้น ที่เกิดขึ้นอยู่ในจิตในใจ ของเราท่านทั้งหลาย  แม้เป็นสิ่งละเอียดทั้งที่มองเห็น และมองไม่เห็น  จิตของเราเมื่อเข้าไปยึดถือ อยู่ในกระแสของโลกียะ   อันเกิดจากเจตนา ขึ้นมาเป็นตัวกรรม  กรรมนั้นมีทั้งที่เป็นกุศลฝ่ายดี  และอกุศล ฝ่ายชั่ว  การใช้ชีวิตของผู้ประมาท  ส่วนใหญ่แล้ว ย่อมประกอบไปด้วยส่วนที่ชั่ว อยู่เป็นปกตินิสัย   เพราะอกุศลกรรมเป็นสิ่งที่ทำง่าย  สำหรับคนชั่ว แต่คนดีทำยาก  ความชั่วที่คอยปิดใจให้มืดมนจนหลงเพลิดเพลินไปสู่ความตายนั้นคือ   กิเลส  ตัณหา อวิชา และอกุศลกรรม  กิเลสตัณหาทุกท่านรู้จักดี  แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเห็นชัด  กิเลสคือ ความโลภ  ความโกรธ    ความหลง  ความถือตัว  ความตระหนี่   ตัณหาคือ ความทะยานอยาก ในการที่จะเบียดเบียน ตนเองและต่อสัตว์อื่น   ให้ได้รับความทุกข์ยากลำบากทั้งกายและใจ  อวิชาคือ ความไม่รู้  ในสิ่งที่เป็นกุศล และอกุศล  ความไม่รู้นี้จะคอยปิดกั้นใจ ให้ห่างจากคุณธรรมความดีทั้งหลาย ที่เรียกว่าความมืดบอดปิดบังในดวงจิต  ปัญญาเบื้องต้นที่จะมองเห็นความเป็นจริง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเรียกว่าสัจจะธรรมนั้นคือ สติ  สัมปชัญญะ  เพียงแค่มีสติละลึกรู้อยู่ที่ใจ  ดูเข้าไปในความรู้สึกนึกคิด ด้วยความว่าง เมื่อนั้นสิ่งที่เป็นอกุศลในจิตใจจะดับหายลงไปในทันที   ตัวสติ ความรู้สึกนั้นเป็นปัญญาเบื้องต้น ที่จะทวนกระแส แรงดึงดูดของโลก  อกุศลกรรมที่จะก่อขึ้นเป็นภพภูมินั้น  จะลับเลือนหายไป  คงเหลือไว้แต่ส่วนที่เป็นกุศล  มีความรู้ ความตั้งมั่นว่างจากอารมภ์  พอเห็นแสงสว่างในธรรม ขึ้นมาเรื่อยๆ   เมื่อความว่างซึ่งเป็นฝ่ายกุศลเกิดขึ้น  ท่านว่าจะเป็นบุญยิ่งกว่าบุญทั้งหลาย  จึงขอน้อมเอาพระธรรม คำสั่งสอน ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์คือท่านพระคุณเจ้า หลวงพ่อดาบส สุมโน  ผู้ซึ่งพ้นแล้วจากกระแสวังวน  วัฎฎะสงสารอันนี้    ท่านได้กล่าวถึงธรรมโดยย่อ ว่าเมื่อพระอินท้าวสักกะเทวราช  ได้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าที่พระวิหารปุพพาราม  แห่งนครสาวัตถี  ตอนหนึ่งมีใจความว่า    ทางที่ง่ายลัดสั้นทำให้มีใจ ใสสะอาด  สว่างปลอดโปร่ง   ประเสริฐ ยิ่งกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย  มีอย่างไรพระเจ้าข้าฯ  พระพุทธองค์ตอบว่า   ข้อปฏิบัติสั้นๆ โดยย่อมีดังนี้  คือการสละ  ละวางสิ่งทั้งปวง ไม่ยึด ไม่ถือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง นี่แหละ  เป็นทางน้อมเข้าถึงความสงบ  มีใจใสสะอาด  สว่างปลอดโปร่ง  และเมื่อเป็นเช่นนี้  เวลาได้รับอารมณ์อันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี  หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ดี  เข้ามากระทบ ย่อมรู้ชัดรู้แจ้ง   ด้วยสติ ปัญญาอันเกิดขึ้นในจิตของตนเอง ตามความเป็นจริง   ขอขยายความในส่วนนี้  เนื่องจากใจอันเป็นสภาวะเดิมเป็นธรรมชาติ ผ่องใส ประภัสสร มีปกติผ่อง มีรัศมี  มีความใสสว่าง  แต่ก็เศร้าหมองแล้ว เพราะอารมณ์ และสรรพกิเลส จรเข้ามาทีหลัง  เข้ามากระทบสิ่งที่มีอยู่ก่อน  คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นธาตุ มีอยู่ก่อนแล้วโดยธรรมชาติ  เมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น  จึงเกิดอารมณ์ขึ้นมา  เหมือนฝุ่นธุลี  สิ่งสกปรก เมื่อมาจับต้องผ้าขาว หรือแก้วที่สุกใสแวววาว  ก็ทำให้ผ้าขาวหรือแก้วนั้นเปลี่ยนลักษณะไป  กลายเป็นของเศร้าหมอง มืดมน  การสละ ละว่างนั้นคือไม่น้อมนึกไปในอารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ   ด้วยความรู้สึกตัว  เมื่อนั้นอารมณ์ก็จะหายไป  ความที่อารมณ์หายไปนั่นเอง  จิตนั้นก็จะเปล่งปลั่งสุกใสไม่เศร้าหมอง ดังข้าวสาร  ที่แยกตัวออกจากแกลบฉันใด  จิตเป็นสิ่งที่ควรทำให้ว่างจากอารมณ์ เป็นสิ่งที่ต้องคัดทิ้ง เมื่อใดละทิ้งอารมณ์ได้  ก็ย่อมจะพบจิต  จะพบจิตเดิมแท้ได้  ก็ต้องทำให้ว่าง จากอารมณ์ยิ่งๆขึ้นไป   ความว่างจากอารมณ์ ความนึกคิด ปรุงแต่ง  เป็นความว่างที่เป็นอิสระ สงบสุข ปลอดภัย  ซึ่งภัยในโลกนี้มีมาก ทั้งภัยใหญ่ ภัยน้อย  ภัยที่เกิดจาก ความนึกคิดปรุงแต่ง ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์  เป็นสิ่งที่น่ากลัวในโลกนี้ และที่น่ากลัวอย่างยิ่ง  คือทะเลแห่งวัฏฏะสงสาร  ซึ่งต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น   ความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว แต่ความเกิดเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า   สำหรับผู้ประมาทแล้วย่อมเลือกเกิดไม่ได้  กระแสแห่งอารมณ์ บาปอกุศลทั้งหลายนั้น จะสะสมตกตะกอน  อยู่ในจิตใจ สร้างเป็นภพ ที่จะนำไปเกิดในอบายภูมิ อันมีสัตว์ใน นรก เปรต อสุรกาย   และภูมิของสัตว์ เดรัจฉาน  เมื่อมีภูมิของสัตว์ เดรัจฉาน ย่อมมีภูมิของสัตว์อื่นอย่างแน่นอน   ไม่ต้องสงสัย  เมื่อจิตดวงนี้สะสมอกุศลจิตเอาไว้มากๆ  จะรู้สึกหนักเป็นก้อนอยู่ที่หน้าอก  ถ้าหนักลงไปเรื่อยๆ จะถ่วงจิตดวงนี้ไปสู่อบายภูมิที่ควบคุมกายใจไม่ได้  สัตว์ทั้งหลายจำต้องเวียนว่ายตายเกิด ตามกระแสแห่งกรรมอีกหลายร้อยชาติ พันชาติ อเนกชาติ ก็เพราะมีมูลฐานมาจากใจ  ใจที่มืดมนเศร้าหมอง ก็เกิดทุกข์ ไปสู่ทุกข์คติ  ใจที่ซื่อตรง ผุดผ่อง ก็เกิดสุขไปสู่สุคติ  และต่อเมื่อมารู้แจ้ง เห็นจริงในอวิชา กิเกลส ตัณหา อุปาทาน  จนสิ้นไปจากใจ  จิตนั้นก็ย่อมจะหลุดพ้น เป็นอิสระอย่างแท้จริง  เหมือนผู้เห็นภัยในวังวน ย่อมยกตนขึ้นเหนือจากวังวนคือ   สังสารวัฏอันเวียนเกิดเวียนตาย แสนโหดร้าย  ซึ่งเกิดคราวใดก็ต้องตายด้วยความอาลัยทุกครั้งไป เพียงแค่เรานึกถึงความตาย  อันมีอยู่เบื้องหน้า ความทุกข์ความเศร้า  ความห่วงหาอาลัยก็จะเกิดเป็นอารมณ์ทุกครั้ง  อารมณ์นั้นเหมือนเงาตามตัว เงาในกระจกหรือเงาในน้ำไม่ใช่ของจริงฉันใด สัพพะสังขารทั้งหลายก็ไม่ใช่ของจริงฉันนั้น  จะหาความสุขสมหวังที่แท้จริงในสรรพสังขารทั้งหลายนั้นย่อมไม่มีจริง  เหมือนหาหนวดที่เต่า  หาเขาที่กระต่าย มนุษย์ผู้ตกอยู่ในความไม่รู้จริงเช่นนี้  ย่อมประมาทว่า บาป บุญ อันเราทำไว้แล้วย่อมไม่มีผลในชาตินี้และชาติหน้า บาปบุญไม่อาจ ตามไปชาติหน้าได้ บางคนยิ่งประมาทเสียอีกกลับเห็นว่าชาติหน้าไม่มี  มนุษย์ผู้ไม่รู้จริงในกองสังขาร เช่นนี้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร  ผู้ไม่ประมาท อยู่ด้วยความว่างย่อมปลอดภัย จากทุกข์ทั้งปวง ผู้ที่ทำจิตว่างไฉนจะไม่เป็น ทางพระอริยะเจ้า ไฉนเล่าจะไม่ประเสริฐวิเศษ  ยิ่งกว่าบุญทั้งหลาย  แม้ทำจิตให้ว่าง เพียงแค่ชั่วเวลาไก่กระพือปีก  ผลานิสงค์จึงสูงกว่าเทวโลก และพรหมโลกอย่างได้สงสัยเลย    

               จึงขอพรรณนามาด้วยประการละฉะนี้

พระองอาจ  ปริมุติโต เทศน์บูชาคุณหลวงพ่อดาบส สุมโน

เนื่องในโอกาสคล้ายวันละสังขารพระเดชพระคุณหลวงพ่อ

 

   

 


แก้ไขล่าสุด (วันเสาร์ที่ 06 ธันวาคม 2014 เวลา 01:01 น.)