postheadericon การปฏิบัติแบบปล่อยวาง

 

 

หลักปฏิบัติธรรม

แบบปล่อยวาง.......ทำใจให้ว่างเปล่า

การปล่อยวางทำใจให้ว่างเปล่า   เป็นสมาธิวิธีสำคัญยิ่งแบบหนึ่ง    ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้   แต่พุทธบริบัทส่วนมากผ่านเลยกันไปเสีย   อย่างไม่เฉลียวใจ    แท้จริงแล้วการปฏิบัติคือการปล่อยวางทำใจให้ว่างเปล่านี้   เป็นจุดหมายใจความของพระพุทธศาสนาโดยตรงอย่างไม่ต้องสงสัย    ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน    สิ้นพระชนมายุในพรรษาสุดท้าย   ปรินิพพานไต้ร่มเงาพระวิหาร   ตำบลอุฬุวคาม   เมืองไพศาลี   หลังจากขับไล่ทุกขเวทนาพยาธิที่พระองค์ทรงประชวรแล้ว   พระอานนท์เถระเห็นความผาสุกแห่งพระองค์ท่าน   จึงเข้าไปกราบนมัสการ    สรรเสริญและรำพึงรำพันในเหตุที่พระองค์จะดับขันธ์ปรินิพพานนั้น   พระพุทธองค์จีงตรัสว่า   กึปนานนฺท   ภิกฺขุ  สงฺโฆ   มยิ   ปจฺจาสึสติ  ดูกรอานนท์  ภิกษุยังมาหวังเฉพาะซึ่งอะไรในเราผู้ตถาคตเล่า   เทสิโต  อานนฺท  มยา  ธมฺโม  อนนฺตรํ   อพาหิรํ  กตฺวา   ดูกรอานนท์  ธรรมเราผู้ตถาคตได้แสดงแล้ว   ทำไม่ให้มีที่ภายใน   ไม่ให้มีที่ภายนอก   นตฺถานนฺท  ตถาคตสฺส   ธมฺเมสุ   อาจริย  มุฏฺฐิ  ดูก่อนอานนท์  กำมืออาจารย์   ซึ่งจะซ่อนความลี้ลับคือธรรมทั้งหลายไว้แก่สาวกบางเหล่า   ต่อกาลเป็นที่สุดย่อมไม่มีแก่ตถาคตเลย    แล้วพระองค์ตรัสแสดงถึงเหตุที่พระองค์มีความผาสุข  ว่า  ยสฺมึ  อานนฺท  สมเย   ดูก่อนอานนท์  สมัยใดพระตถาคตเจ้าเข้าถึง   อนิมิตเจโตสมาธิวิหาร   คือทำสมาธิปล่อยวางใจ   ไม่ให้มีนิมิตวางเปล่าจากนิมิตทั้งปวงอยู่เวทนาบางเหล่าย่อมดับไป  ผาสุตโร   อานนฺท  ตสฺสมึ   สมเย   ดูก่อนอานนท์   สมัยนั้นกายแห่งพระตถาคตเจ้าย่อมมีความผาสุกสบาย   ตสฺมา  ติหานนฺท  ดูก่อนอานนท์    เพราะอนิมิตสมาธิวิหารนั้น  เป็นเหตุใหกายมีความผาสุกและหลังจากนั้นก็แสดงถึง  สติปัฏฐาน  ๔  อันเป็นหลักใหญ่  และปกิณกะพอสมควร

อนิมิตสมาธิหรือนิมิตเจโตสมาธิวิหาร   ก็คือทำใจไม่ให้มีที่ภายในไม่ให้มีที่ภายนอกนั้นเอง    ได้แก่ทำใจให้ปล่อยว่าง   ทำใจให้ว่างเปล่าจากนิมิตต่างๆ    นิมิตต่างๆ  คืออะไร   ก็คืออารมณ์ต่างๆ   หรือความคิดต่างๆ  ที่เรียกว่าจิตสังขารนั่นเอง   ทำใจให้ปราศจากความไม่รู้แจ้งก็ดี   ให้ปราศจากความนึกความคิดก็ดี   ให้ปราศจากความอยากก็ดี    ให้ปราศจากความยึดถือเกาะเกี่ยวก็ดี   ให้ปราศจากความมีที่ตั้งก็ดี   ชื่อว่า  อนิมิตตเจโตสมาธิ   อนิมิตตเจโตสมาธินี้ไม่เพียงเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อทางหลุดพ้นเท่านั้น  ยังเป็นผาสุกวิหารธรรม  ของพระอริยะเจ้าทั่วๆ  ไปด้วย

เราๆท่านๆ  คิดดูกันบ้างหรือเปล่า   ทำไมอนิมิตตเจโตสมาธิจึงมีอานุภาพบำบัดขับไล่ทุกขเวทนาอาพาธิ์ได้    ผู้ที่เกิดมาในโลกนี้   ย่อมมีโรคพยาธิด้วยกันทุกคน   อย่างน้อยก็ปวดหัว  ตัวร้อน  อ่อนเพลียฯ  ขอให้ท่านทดลองทำอนิมิตตเจโตสมาธิดูบ้างชิ   แทนที่จะเสียค่าหมอหรือค่ายา   ก็อาจจะไม่ต้องเสีย   เสียมากก็อาจเสียน้อย    เป็นมากก็อาจเป็นน้อย   เพียงทุกขเวทนาทางกาย   อนิมิตตเจโตสมาธิยังมีอานุภาพช่วยได้บ้าง   ส่วนอนิมิตตเจโตสมาธิอันเป็นไปทางใจโดยตรง   จะเป็นอย่างไร  จะไม่สมจริงตามคำที่ว่า  ปัจจัตตัง  เวทิตัพโพ  วิญญูหิ  หรือ

ทีนี้จะขอยกข้อปฏิบัติในการปล่อยวาง   ทำใจให้ว่างเปล่าในพระสูตรมาแสดง   เพื่อเป็นหลักฐาน   ที่นั้นก็คือพระมหาสติปัฏฐานสูตรนั่นเอง    ในบทธัมมานุปัสสนาแห่งอริยะสัจจะบรรพ   ก็ที่เราๆ  ท่านๆ  ดูเหมือนจะรู้กันทั่วๆ  ไปแล้ว   ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดังพระบาลีนี้  กตมญฺจ  ภิกฺขเว   ทุกฺขนิโรโธ   อริยสจฺจํ  โยตสฺสาเยว   ตณฺหาย   อเสสวิราคนิโรโธ   จาโค  ปฏินิสฺสคฺโค  มุตฺติ   อนาลโยฯ  แปลว่า   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ความจริงอันไปจากข้าศึก   คือความดับทุกข์เป็นอย่างไรเล่า   ความสำรอกดับโดยไม่เหลือ   ความสละ   ความส่งคืน   ความปล่อยวาง   ความไม่อาลัย   ในตัณหานั้นแลอันใดฯ  เนื้อความสำคัญสำหรับข้อปฏิบัติในบทนี้ก็มีเพียงเท่านี้    เรียกข้อปฏิบัติบทนี้ว่า   ทุกขนิโรธอริยสัจจะบท   และในบรรพนี้   พระองค์ยังแสดงถึงตัณหาที่จะเกิดขึ้น  และที่จะดับไปไว้ด้วย   ดังพระบาลีนี้ว่า   สาโข   ปเนสา   ภิกขเว  ตณฺหา  กตฺถ  อุปฺปชฺชมานา   อุปปชฺชติ  กตฺถ   นิวีสมานา  นิวีสติฯ   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ก็ตัณหานั้นนั่นแล   เมื่อบุคคลจะละเสีย    ย่อมละเสียได้ในที่ไหน   เมื่อจะดับย่อมดับในที่ไหนฯ

และในพระสูตรนี้  พระองค์ทรงแสดงตัณหาไว้โดยเฉพาะว่า   รูปตณฺหา   โลเก   ปิยรูปํ   สาตรูปํ  เอตตฺเถสา   ตณฺหา  อุปฺปชฺชมานา   อุปฺปชฺชติ ฯลฯ

รูปตณฺหา  โลเก  ปิยรูปํ   สาตรูปํ   เอตตฺเถสา   ตณฺหาปหิยฺยมานา   ปหิยฺยติ  เอตตฺถ   นิรุชฺฌมานา   นิรุชฺฌติ ฯ   ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้นก็ย่อมเกิดขึ้นที่ความอยากในรูป   ความอยากในเสียง  ความอยากในกลิ่น   ความอยากในรส  ความอยากในสำผัส   ความอยากในธรรมารมณ์   ซึ่งเป็นที่รักที่พอใจในโลก   เมื่อจะตั้งอยู่ก็ย่อมตั้งอยู่ที่ความอยากในรูป   ความอยากในเสียง   ความอยากในกลิ่น  ความอยากในรส   ความอยากในสำผัส    ความอยากในธรรมารมณ์นั้นฯ  และตัณหา  เมื่อบุคคลจะละเสีย  ก็ย่อมละเสียที่ความอยากในรูป   ความอยากในเสียง   ความอยากในกลิ่น   ความอยากในรส   ความอยากในสำผัส    ความอยากในธรรมารมณ์นั้น   เมื่อจะดับก็ดับที่   ความอยากในรูป    ความอยากในเสียง   ความอยากในกลิ่น  ความอยากในรส  ความอยากในสผัส   ความอยากในธรรมารมณ์นั้นฯ

ข้อความข้างต้น   ที่พระองค์ตรัสว่า   ความสำรอก    ดับไม่มีเหลือก็ดี   ความส่งคืนก็ดี   ความปล่อยวางก็ดี   ความไม่อาลัยก็ดี   ซึ่งตัณหานั้น   คำเหล่านี้ก็หมายความว่า   สำรอกดับโดยไม่เหลือซึ่งอารมณ์ที่เป็นรูป   อารมณ์ที่เป็นเสียง  อารมณ์ที่เป็นกลิ่น   อารมณ์ที่เป็นรส  อารมณ์ที่สำผัส   อารมณ์ที่เป็นธรรมารมณ์   สละอารมณ์ที่เป็นรูป   อารมณ์ที่เป็นเสียง   อารมณ์ที่เป็นกลิ่น   อารมณ์ที่เป็นรส   อารมณ์ที่เป็นสำผัส   อรมณ์ที่เป็นธรรมารมณ์    ส่งคืนอารมณ์ที่เป็นรูป  ส่งคืนอารมณ์ที่เป็นเสียง   อารมณ์ที่เป็นกลิ่น  อารมณ์ที่เป็นรส   อารมณ์ที่เป็นสำผัส   อารมณ์ที่เป็นธรรมารมณ์   ไม่อาลัยอารมณ์ที่เป็นรูป  อารมณ์ที่เป็นเสียง   อารมณ์ที่เป็นกลิ่น   อารมณ์ที่เป็นรส   อารมณ์ที่เป็นสำผัส  อารมณ์ที่เป็นธรรมมานั้นนั่นเองฯ

ต่อนี้ไปจะขออธิบายในอรรถที่ว่า  ปล่อยวางทำใจให้ว่างเปล่า   เพื่อให้ชัดเจนกว้างขวางออกไปอีกสักหน่อย   ในการปล่อยว่างก็ดี   ทำใจให้ว่างเปล่าก็ดี   มีลักษณะต่างกันอยู่บ้างก็โดยใฝ่เหตุใฝ่ผล    ถ้าปฏิบัติใฝ่ข้างปล่อยวางก็เป็นเหตุ   มีเหตุเป็นไป  ถ้าปฏบัติใฝ่ข้างทำใจให้วางเปล่า  ก็เป็นผล  มีผลเป็นที่มา  ในความจริงแล้ว    ทั้งเหตุทั้งผล   คือจะปล่อยวางแท้ได้ก็ต้องพบธรรมที่ว่างเปล่า   จะพบธรรมที่ว่างเปล่าก็ต้องปล่อยวาง  ฉะนั้น   ผู้ปฏิบัติจะมุ่งปล่อยวาง  หรือจะมุ่งว่างเปล่าก็ได้ทั้งนั้นฯ

เฉพาะอรรถความคำว่าว่างเปล่าๆ  นี้ข้าพเจ้าใคร่จะบรรยายไว้เป็นเพียงส่วนพิเศษอีกประเด็นหนึ่ง    เพราะคำว่าว่างเปล่าๆ  นี้ไม่เพียงหมายถึงความเป็นผลตามกล่าวมานี้    ยังหมายถึงนอกเหนือไปจากผลด้วยอย่างคำว่า  วิราคะธรรม   ซึ่งแปลว่าปราศจากกำหนัด    ดังเครื่องย้อมอันไปปราศ   ไม่เพียงปราศจากไปซึ่งเครื่องย้อม   ยังกินเนื้อความไปถึงธรรมที่บริสุทธิ์   อันปราศจากแล้วซึ่งความกำหนัด    ดังผ้าขาวด้วยอันไม่ใช่เหตุ   ไม่ใช่ผล  คือเหนือเหตุเหนือผล    จะไม่เรียกว่าวิราคะธรรม  แต่จะเรียกว่าอสังขตะธรรมอสังขตะธาตุ   หรืออะไรก็แล้วแต่   หรือกับคำว่า  นิโรธ   ซึ่งแปลว่าความดับ   ไม่เพียงกิริยาที่ดับไปแห่งสังขาร    ยังหมายถึงธรรมที่ออกไปจากสังขารที่ดับด้วย   จะไม่เรียกว่า  นิโรธ   แต่จะเรียกว่าวิมุตติจิต  นิวารจิตหรืออะไรก็แล้วแต่

ว่าโดยแท้แล้ว   คำว่าว่างเปล่านี้หมายถึงธรรมที่บริสุทธิ์ที่เป็นเนื้อแท้ดังผ้าขาว  ขอให้ท่านๆ  โปรดเข้าใจตามนี้

จริงอยู่สิ่งนั้น   คือความว่างเปล่า  หรือธรรมที่ว่างเปล่า   จะไม่มีเครื่องคู่   ไม่มีอะไรเปรียบเทียบ   ไม่มีร้อน  ไม่มีเย็น   แต่เราก็ต้องหมายถึงสิ่งที่ตรงกันข้าม   เป็นเครื่องชี้บอก  หากจะไม่เทียบฝ่ายตรงข้ามเป็นเครื่องชี้บอก   การปฏิบัติธรรมของผู้ปฏิบัติธรรมก็จะไม่มีความหมาย    ขันธโลกเป็นทุกข์   เมื่อดับขันธโลกได้ก็ต้องเป็นสุข  ฉะนั้น  พระพุทธองค์จึงตรัสว่า   นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ   พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

ความว่างหรือธรรมที่ว่างเปล่านี้   แม้จะไม่มีอารมณ์   แต่ผู้ปฏิบัติเบื้องต้นที่ยังเข้าไม่ถึงจุด  จะถือเป็นอารมณ์   ก็ไม่เสียหายและไม่มีโทษ   และท่านก็จัดไว้ในความ  เป็นพระกัมมัฏฐานบทหนึ่ง   เรียกว่า  อุปสมานุสติกัมมัฏฐานภาวนา   ในพระกัมมัฏฐานบทนี้  เป็นอรูปกัมมัฏฐาน  ซึ่งไม่ต้องมีรูปหรือนิมิตเป็นอารมณ์อย่างกัมมัฏฐานบทอื่นๆ  บางบท    แต่บทนี้เพียงเจตนาหน่วงน้อมยั้งใจไปในธรรมที่ดับ   คือพระนิพพานเป็นอารมณ์   พระนิพพานนั้นเป็นวิราคะธรรม   นิโรธธรรมและว่างเปล่าจากอารมณ์หรือสังขารใดๆ  ทั้งสิ้น  ดับจากทุกข์    สงบปราณีตเป็นนิรามิสสุข    เป็นธรรมที่ปราศจากนิมิต   เป็นสูญญตะ  ชุติมันตะ  อิฏฐารมณ์  อนิฏฐารมณ์   เข้าไม่ถึง   เป็นอิสระธรรม   ตัณหาและทิฏฐิเข้าอาศัยไม่ได้   ความถือมั่นอะไรๆ  เช่นกันกับในโลกย่อมไม่มี    ปราศจากกังวล   เป็นธรรมที่ยังความเมาให้สร่าง   เป็นธรรมที่นำออกเสียซึ่งความกระหาย   เป็นธรรมที่ถอนขึ้นด้วยดี   ซึ่งความอาลัย  เป็นธรรมที่เข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะฯ   เมื่อผู้ปฏิบัติมานึกน้อมใจถึงพระนิพพานด้วย   มีเนื้อความดังนี้เป็นต้นฯ  ใจก็สงบระงับเยือกเย็นเพราะว่างเปล่าปราศจากอารมณ์อื่นๆ   ก็จะล่วงเสียซึ่งนิวรณ์ธรรมทั้งหลาย   ปรากฏเป็นสมาธิ   มีความผ่องใสภายใน   ถ้าเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับที่เราออกจากที่มืด   และร้อนอบอ้าว   ขึ้นยืนอยู่บนยอดเขามองดูฟ้า  อันมีความว่างเปล่าปลอดโปร่งโร่งเย็นสบาย  และไม่มีที่สุด อันมีอยู่โดยรอบๆ  ตัวเราตลอดทั้ง  ๙  ทิศ  ฉะนั้น  ในคิริมานนทสูตร์   ข้อ  ๖ , ๗  พระพุทธองค์ตรัสว่า   อิธานนฺท   ภิกฺขุ   อรญฺญคโตวา   รุกขมูลคโตวา  สูญฺญาคารคโตวา   อิติปฏิสญฺจิกฺขติ   เอตํ  สนฺตํ   เอตํ  ปณีตํ  ยทิทํ   สพฺพสงฺขารสมโถ   สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค   ตณฺหกฺขโย   วิราโค   (นิโรโธ )  นิพฺพานนฺติ   แปลว่า    ดูก่อนอานนท์   ภิกษุในศาสนานี้  ไปแล้วสู่ป่าก็ดี   ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ดี   ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ดี   พึงสำเนียก   คือทำในใจหมายมุ่งเฉพาะดังนี้ว่า   ธรรมชาตินั้นสงบ   ธรรมชาตินั้นประณีต   ธรรมชาตินั้นดังฤา   ความเข้าไปสงบสังขารทั้งปวง   ความส่งคืนยึดถือทั้งปวง   ที่เข้ามาดำรงอาศัยอยู่   ความที่สิ้นไปแห่งตัณหา    ความออกไปจากเครื่องร้อยรัด   คือ  วิราคะธรรม  (นิโรธธรรม)  วิราคะสัญญา  (นิโรธสัญญา)

 

 

ในคิริมานนท์สูตรนี้   มีส่วนที่ต่างกันกับพระมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่ก็คือ   บอกไว้สองนัย  แต่ในมหาสติปัฏฐานสูตรบอกไว้นัยเดียว   การสละวาง  สละปล่อย  อันเป็นส่วนเหตุ  แม้ในพระมหาสติปัฏฐานสูตร   จะไม่บอกชี้ถึงส่วนผล  คือ  ธรรมที่สงบระงับประณีตก็ตาม   ก็เท่ากับบอกชี้เหมือนกัน   คือ  ถ้าผู้ปฏิบัติสละวาง  สละปล่อย  แล้วซึ่งตัณหาหรืออารมณ์หรือสังขาร ฯ  ก็ย่อมพบธรรมที่สงบระงับประณีตอยู่นั่นเอง   จะหลีกไปทางไหนไม่ได้   เพราะทางเอกมีทางเดียว   ที่ก้าวล่วงจากทุกข์ทั้งหลายฯ

 

ทุกขนิโรธอริยะสัจจะบท   คือ  การปล่อยวางทำใจให้ว่างเปล่านี้   เป็นวิธีพลิกจิตเหมือนกับการพลิกแผ่นดินของชนผู้ทำไร่ไถ่นา   พลิกจิตคือพลิกอารมณ์ฉนั้น   เราท่านทุกคนจึงเท่ากับมีที่ดินดี   และมีทั้งเครื่องมือที่จะพลิกแผ่นดินอยู่พร้อมแล้ว

 

การพลิกแผ่นดินๆ นี้  คือการคว้านหรือไถขุดเอาอีกข้างหนึ่งเอากลับมาเป็นอีกข้างหนึ่ง   ถ้าข้างหน้าก็พลิกไปข้างหลัง   ถ้าข้างหลังก็พลิกกลับไปข้างหน้า   ถ้าข้างในก็พลิกกลับไว้ข้างนอก  ถ้าข้างนอกก็เอากลับไปไว้ข้างใน   หรือข้าล่างก็กลับเอามาไว้ข้างบน   ข้างบนก็กลับเอาไปไว้ข้างล่าง  อย่างนี้แหละ  คือการพลิกแผ่นดินและการพลิกแผ่นดินนี้  ก็คือการพลิกที่หน้าดินหรือบนดินนั้นเอง  ในเมื่อพลิกได้แล้ว   ผลก็คือพบเห็นเนื้อดินแท้ซึ่งไม่ใช่หญ้าหรืออื่นๆ   อันว่าแผ่นดิน  แม้จะเป็นแผ่นดินดี   แต่เมื่อมีหญ้าหรือเครื่องรกปกบัง  ก็หาเป็นนาอันควรแก่ประโยชน์ไม่หญ้าเครื่องรกปกบังเป็นเครื่องประทุษร้ายที่ดินฉันใด   สรรพทุกข์และกิเลสทั้งหลาย  ก็เป็นเครื่องประทุษร้ายจิตใจของเราท่าน  ฉันนั้นอันจิตของเราๆ  ท่านๆ  ทุกคนย่อมมีสรรพกิเลสและทุกข์เป็นเครื่องรกปกบังอยู่ก่อนจึงไม่รู้ตามความเป็นจริง   และก็ไม่ปราถนาที่จะทำจิตของเรา ให้เป็นสิ่งวิเศษมีค่าขึ้นมา  หากมีท่านผู้รู้มาบอกกับเราว่า พื้นที่ดินของท่านเป็นดินที่มีค่ายิ่งนัก     เพราะที่ดินของท่านควรแก่ประโยชน์มากหลาย    หากท่านรู้ค่าของที่ดินท่านแล้ว  ท่านจะมีความสุขอนันตัง   และหากจะพึงแลกด้วยทรัพย์สมบัติเงินทองแล้ว   แม้ในแดนแห่งราชธานีท่านท้าวเวสสุวรรณหรือโภคาวดีนคร   ก็ยังไม่อาจจะเอามาแลกให้คุ้มค่าได้  ที่ดินของท่านเมื่อทำให้เป็นนาแล้วจะประเสริฐกว่าฯ   เราท่านทุกคน  ก็เท่ากับว่ามีโชคลาภ   อันประเสริฐอยู่ในกำมือ   ของเราแล้วยังแต่ว่าเราไม่ทำค่าของมันให้เป็นค่าขึ้นมาเท่านั้น   ต่อเมื่อใดเราลงมือกระทำการพลิกจิตดั่งพลิกแผ่นดินแล้ว   เมื่อนั้นแหละจึงจะเห็นคุณค่าของมัน   และผลก็จะประสบแก่เราเกินที่เราจะคาดหมายฯ

 

การปฏิบัติแบบปล่อยวาง  ทำใจให้ว่างเปล่า  อันเปรียบประดุจพลิกแผ่นดินนี้  คล้ายกับจะเป็นเพียงเรื่องง่ายๆ   และเล็กน้อย   ทุกคนก็พอจะทำกันได้สำเร็จ  แต่ครั้นเมื่อลงมือทำเข้าก็อาจจะเป็นเรื่องอยากและใหญ่โตไปก็ได้   สำหรับผู้แรกทำใหม่ๆ  ก็จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร   จับอะไร   วางอะไร  ว่างเปล่าเป็นอย่างไร   จึงต้องอาศัยความพยายามด้วยความแยบคาย    อย่าเป็นผู้ท้อถอยก็จะค่อยๆ  รู้ค่อยๆ  เห็น  ค่อยเป็นค่อยไป   หมั่นพลิกแพลง   ค้นหาอยู่เสมอมิได้ละเลิกเสีย   ผลคือการพลิกจิตดังพลิกแผ่นดิน   ก็จักประจักษ์แก่เราสักว่าหนึ่งจนได้

 

ท่าน ทั้งหลาย  คำว่าพลิกแผ่นดิน ๆ  ดังกล่าวมาแล้วนี้นั้นอันเป็นข้ออุปมา  นัยหนึ่งเพื่อฟังกันง่ายๆ   เท่านั้นโดยแท้แล้ว   คำว่าพลิกแผ่นดินยังมีความหมายมากยิ่งไปกว่านี้  ความจริงแผ่นดินก็มิเป็นแผ่นดินแบนๆ  ดังแผ่นกระดาษหรือแผ่นไม้   แต่มันเป็นรูปกลมต่างหาก  คล้ายผลส้มซ่า  หรือส้มมะกรูด  เมื่อแผ่นดินมิได้เป็นแผ่นแบนๆ   แต่เป็นรูปกลมเช่นนี้แน่แล้ว   การพลิกแผ่นดินก็ต้องหมายถึงพลิกให้เห็นแผ่นฟ้าจึงจะชอบ   ทีนี้หากจะมีคำถามไถ่ไล่เบี้ยขึ้นมาว่า  ก็แผ่นดินที่มันกลมๆ  นี้  นั้นมันใหญ่เหลือที่เราจะหยิบยกมันขึ้นได้  เราจะพลิกมันได้อย่างไร   หากเป็นเช่นนี้ก็ขอบอกอุบายให้ทราบ   พึงเข้าไปแล้วสู่ป่าก็ดี  เข้าไปแล้วสู่โคนไม้ก็ดี   เข้าไปแล้วสู่เรือนว่างก็ดี   แล้วจงใช้พระคาถาอันวิเศษนี้คือ  เอตํ   สนฺตํ   เอตํ  ปณีตํ   ยทิทํ   สพฺพสงฺขารสมโถ  สพฺพูปธิปฏินิสสคฺโค   ตณฺหกฺขโย   วิราโค   (นิโรโธ)  นิพฺพานนฺติฯ  หรือบทว่า  โยตสฺสาเยว   ตณฺหาย   อเสสวิราคนิโรโธ  จาโค   ปฏินิสฺสคฺโค   มุตฺติ  อนาลโย    ดังนี้ก็ได้   เมื่อเราใช้พระคาถานี้เจริญอยู่   ไม่ช้าไม่นานก็หยิบยกแผ่นดินที่มันใหญ่โตนั้นได้   แล้วก็จงพลิกดูมัน   ก็จะเห็นว่า   อนฺโต   ทุกขสฺส   นั่นที่สุดแห่งแผ่นดิน   คือ  ทุกข์  อนนฺตํ   ธมฺโม   นั่นฝั่งฟ้า   คือธรรมอันหาที่สุดมิได้   การที่ยกแผ่นดินขึ้นพลิกได้นี้   จะเป็นเพราะตัวเราใหญ่ขึ้นมา    หรือจะเป็นเพราะแผ่นดินนั้นเล็กลง   ก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติเอง

 

เคยมีบางท่านพูดว่า   การทำใจให้ว่างเป็น  อากาสานญฺจายตนฌาน   แห่งอรูปฌาน  ๔  ซึ่งสูงไปกว่ารูปฌาน  ๔   ความจริงแล้ว  หาเป็นเช่นนั้นไม่   พระพุทธเจ้าไม่เคยเทศนาไว้เลยว่า   อากาสานญฺจายตนฌาน   เป็นองค์สัมมาสมาธิ   หากจะเป็นอรูปกัมมัฏฐานนั้นได้    ไม่มีอะไรจะต้องสงสัย   ขอให้ท่านตรวจสอบ   พิจารณาดูสัมมาสมาธิ   ในมัคควิภังคสูตร     หรือในธรรมจักกัปวัตนสูตร   เป็นต้นก็ได้

 

ที่ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องการปฏิบัติธรรม  ที่ปฏิบัติโดยปล่อยวางทำใจให้ว่างเปล่ามาสู่ท่าน ๆ  นี้หวังว่าคงจะทำความสว่างใจ   คลายกังขาให้แก่ท่าน ๆ  ที่ไม่รู้ทั่วในพุทธศาสนาเป็นอย่างดี   ทุกขนิโรธอริยสัจจบทบรรยายสังเขป  ก็ขอยุติลงเพียงเท่านี้

 

 

ขอสัพพะสัตว์   อย่าพึงประสบทุกข์   ที่มีทุกข์  ขอจงพ้นจากทุกข์   และถึงสุขอันเกษมทั่วกันเทอญฯ

ข้าพเจ้าตุ๊ปุ๊ด   ปุตฺตโม

ได้พยายามคัดลอกขึ้นมาตามต้นฉบับ   ที่หลวงปู่ดาบสได้ประพันธ์ไว้เพื่อเป็นบุญสืบต่อไป  ขอท่านผู้ปฏิบัติจงสม  หวังทุกท่านเทอญฯ

     พิมพ์ที่   อาศรมไผ่มรกต   ต . ป่าอ้อดอนชัย  อ .  เมือง  จ .  เชียงราย  

แก้ไขล่าสุด (วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2014 เวลา 06:07 น.)