postheadericon แนะนำผู้ใช้อารมภ์ใกล้ตาย

เรื่อง

แนะแนวทางการ

ทำจิตในเวลาใกล้จะตาย

แสดงโดย

พระคุณเจ้าหลวงพ่อดาบสสุมโน

แห่งอาศรมเวฬุวัน

ป่าอ้อดอนชัย   จ.  เชียงราย

แสดงไว้เมื่อ  พ . ศ ๒๕๒๘

บันทึกใหม่ที่วัดกู่แก้วธรรมาราม  อ.  เวียงป่าเป้า  จ . เชียงราย

โดยตุ๊ปุ๊ด  ปุตฺตโม

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖

 

 คำนำ

          มีผู้สนใจถามถึงเวลาใกล้จะตายว่า  ควรทำอย่างไร  และอย่างไรจึงจะดีจะถูก  ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสที่จะอธิบายให้ท่านๆ เข้าใจแจ่มแจ้งได้ด้วยคำพูดเพียงประโยค  สองประโยค  จึงหาโอกาสเขียนแนะแนวทางการทำจิตใจเวลาใกล้จะตายขึ้นแทนแม้กระนั้นก็ยังไม่ละเอียดพอ

          และหนังสือที่เขียนขึ้นเล่มนี้   ก็มิใช่ว่าจะเป็นแนวนำไปปฏิบัติในเวลาใกล้ตายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ใช้เป็นหลักเจริญกัมมัฏฐาน  ภาวนาในเวลาที่ใม่ใช่เวลาใกล้จะตายด้วย

            มีความสำคัญอย่างไรหรือ  เวลาใกล้จะตายจึงจะต้องทำใจให้ดีให้ถูก   เนื่องจากว่าเวลาใกล้จะตายนั้น  เป็นหัวเลี้ยวหัวตอในการที่จะเริ่มก่อภพก่อชาติใหม่   ถ้าเวลาเริ่มก่อใหม่นั้น  มีเหตุมีปัจจัยเครื่องปรุงแต่งดี  ภพชาติใหม่ก็จะดีมีสุขสิ้นกาลนาน   ถ้าไม่ดีก็จะตรงกันข้ามฯ  เครื่องปรุงแต่งดี    เช่นคนรับจ้างทำงานของท่านอนาปิณฑิกเศรษฐี  คนรับจ้างทำงานนั้นได้รักษาอุโบสถกึ่งหนึ่ง   คือเวลากลางคืน   เพราะเวลากลางวันไปทำงานนอกบ้านไม่รู้วันอุโบสถ   ครั้นมารู้มาเห็นคนในบ้านเศรษฐีเขารักษาอุโบสถกันทั้งนั้น  จึงรักษาบ้างโดยไม่กินอาหารเย็นในวันนั้น  ตกกลางคืนใกล้จะแจ้งลมเสียดแทงขึ้นมากและไม่ยอมกินอะไรๆ  ก็สิ้นชีพไปบังเกิดเป็นเทพเจ้าเป็นเทวดามีบ้านมีเมืองอยู่ในแดนป่าหิมพานต์บริบูรณ์พูนสุขพรั่งพร้อมไปด้วยทิพย์สมบัติ  เมื่อดาบส  ๕๐๐  เดินทางออกจากป่าหิมพานต์  นั่งพักร้อนที่ใกล้ต้นไทรใหญ่จะไปกรุงโกสัมพี   เทวดาผู้มีศักดิ์นี้จึงออกมาสงเคราะห์  ด้วยน้ำด้วยท่าโภชนาอาหารทิพย์  นับว่าเทวดานี้แม้เป็นเทวดาชั้นต่ำแต่ก็จักเสวยสมบัติอันมีสุขนี้สิ้นกาลนาน

            หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสองพันปีเมืองมนุษย์  ยังไม่เท่าสองวันของเทวดาชั้นนี้   เทวดาชั้นนี้จะมีอายุห้าร้อยปีทิพย์  นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน   สิบสองเดือนเป็นหนึ่งปีเมืองมนุษย์เราแล

            คนทำงานรับจ้างของท่านอนาปิณฑิกเศรษฐีผู้บังเกิดเป็นเทวดาสวรรค์นี้เพราะเหตุเครื่องปรุงแต่งจิตร   คือความผ่องใสแห่งจิต  มีจิตยินดีตั้งมั่นโดยอาศัยอุโบสถกึ่งหนึ่ง

            และคนรับจ้างทำงานของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี  ผู้นี้ในเวลาใกล้จะตายนั้น   หากนึกปราถนาเอกราชหรือราชสมบัติ   ในเมืองมนุษย์ในเวลานั้นก็จะได้โดยง่ายแล  อาศัยกึ่งหนึ่งของอุโบสถเป็นอารมณ์   ประดุจกันในชาติหลังที่จะมาเกิด   เพราะความที่จิตผ่องใสเป็นเหตุ   เพราฉะนั้นในเวลาใกล้จะตายจึงมีความสำคัญ

            อันความผ่องใสแห่งจิตนั้น   เป็นดั่งแก้วสารพัดนึก  จึงควรทำจิตให้เป็นแก้วสารพัดนึกตั้งแต่บัดนี้แล

 

                                                       แนะแนวทาง

                                              เวลาใกล้จะตาย  ทำจิตทำใจอย่างไร   หรือนึกอย่างใด

จึงจะดีที่สุด?

            ขอชี้แจงว่า  จงทำตามแนวทางพระพุทธโอวาทที่ว่า   “สะจิตตะปะริโยทะปะนัง”  ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว  อันนี้แล  เป็นดีที่สุด  ถูกต้องที่สุดฯ

            ตามพุทธโอวาทนี้  นัยว่า  ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว  หรือให้ผ่องใสขาวรอบบทนี้ฟังเข้าใจไม่ยาก  และก็ทำกันได้ทุกคน   จะแตกต่างกันบ้าง   ก็คือจะผ่องใสกันมากน้อยแค่ไหน

            ปกติทุกคนย่อมจะมีจิตผ่องใส  และไม่ผ่องใสอยูเป็นประจำแล้ว   เช่นเวลาประสบอารมณ์ที่ชอบใจ   จิตก็ผ่องใส   อารมณ์ที่ไม่ชอบใจจิตก็เศร้าหมอง   หรือเวลาตื่นจากหลับก็ผ่องใสดั่งนี้เป็นต้น   นี่ก็ธรรมดาสามัญชนทั่วไป

            พระพุทธโอวาทบทที่ว่า   ให้ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้วนี้  ย่อมหมายถึงจิตที่ผ่องแผ้ว   หรือผ่องใส  อันเกิดจากการทำเป็นเหตุ   คือให้ผ่องแผ้วผ่องใส

            จะอุปมาเนื้อความนี้  จิตก็เหมือนน้ำในหม้อในโอ่ง   หรือผ้าขาวผืนที่เราใช้อยู่

            เมื่อจิตเราท่านเหมือนน้ำในหม้อในโอ่ง   กายก็คือหม้อหรือโอ่ง  ที่ใส่น้ำนั้นเอง   ทำอย่างไรเล่าน้ำในหม้อในโองจะใสผ่องแผ้ว   เราก็ไม่เอาอะไรมาผสม  และไม่ก่อกวน  หรือแม้จะมีอะไรอยู่ก็จะนำออก  น้ำในหม้อในโอ่งก็จะใสผ่องแผ้วขึ้นมา

            จิตเราเหมือนผ้าขาวก็ดี  เมื่อเศร้าหมองไป   เพราะฝุ่นธุลี  สิ่งสกปรกที่มาจับต้อง   เราก็ต้องซักฟอกปัดเป่า   ก็จะกลับเป็นผ้าขาวสะอาดขึ้นมา   ในที่นี้จะขอรวบลัดตัดตรงเข้าหาเรื่องการทำจิตให้ผ่องแผ้วผ่องใสในเวลาใกล้จะตาย  ว่าจะทำวิธีใด ?  ข้อนี้ก็ไม่มีทางใดที่จะถูกแท้ตรงตามความหมายเท่ากับหลักการสะละปล่อยว่างสิ่งทั้งปวง   เพื่อให้จิตผ่องแผ้วใสสะอาด  เพราะจิตใจผ่องแผ้วใสสะอาดเป็นบรมธรรม   เป็นจิตพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย   พ้นเครื่องผูกพันทั้งปวง   เป็นภาวะเข้าถึงความจริง   เป็นแก่นธรรม   เป็นเนื้อแท้อันไม่เกิดแก่เจ็บตาย   เป็นภาวะไม่มีต้น  ไม่มีปลายผ่องใสบริสุทธิ์รอบฯ

เรื่องอนาปิณฑิกเศรษฐี

ต่อนี้  จะนำเรื่องการทำจิตทำใจ  เวลาใกล้จะตาย   ตัวอย่างในสมัยพุทธกาลมาแสดง   คืออุบาสกอนาปิณฑิกเศรษฐี   เมื่ออาพาธหนักใกล้จะตาย   พระสารีบุตรเถระไปบอกสอนให้สละปล่อยว่างสิ่งทั้งปวง   คือบอกสอนว่า

เราจะสละปล่อยวางไม่ยืดถือซึ่ง

ตาที่สำหรับมองเห็นรูปฯ

หูที่สำหรับได้ยินเสียงฯ

จมูกที่สำหรับสูดกลิ่นฯ

ลิ้นที่สำหรับลิ้มรสฯ

กายที่สัมผัสมาถูกต้องฯ

ใจที่สำหรับรู้อารมณ์ฯ

เราจะสละปล่อยวางไม่ยืดถือซึ่ง

รูปที่ตาได้เห็นฯ

เสียงที่หูได้ยินฯ

กลิ่นที่จมูกรู้ได้ฯ

รสที่ลิ้นรู้ได้ฯ

ผัสสะที่กายรู้ได้ฯ

พระพุทธองค์จึงตรัส   เพื่อให้เธอสละปล่อยสละวางว่า   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เธอจะเข้าใจข้อนี้เป็นไฉน 

ตา,  หู,  จมูก,  ลิ้น,  กาย,  ใจ,  เที่ยงหรือไม่เที่ยงฯ

ภิกษุใหม่ผู้อาพาธกำหนดข้อความที่พระพุทธองค์ตรัสถามนี้แล้ว  เห็นว่าไม่เที่ยง   จึงกราบทูลตามความเป็นจริงว่า  ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า

            พระพุทธองค์ถามอีกว่า  สิ่งใดไม่เที่ยงแล้วผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น   เพื่อปรารถนาสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นให้หยุดอยู่ก็ดี   ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็ดี   ไม่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็ดี   จะได้ตามความหวังแลหรือ

            ภิกษุใหม่ผู้อาพาธกราบทูลว่าไม่ได้พระเจ้าข้า

            พระพุทธองค์ตรัสว่า  ก็เมื่อไม่ได้ตามความหวัง  จะเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า

ภิกษุใหม่ผู้อาพาธ  กราบทูลว่า  เป็นทุกข์พระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ตรัสว่า  ก็เมื่อเป็นทุกข์เช่นนี้  ควรแลหรือ  จะเข้าไปยึดไปถือในสิ่งนั้นๆ  มีตาเป็นต้นว่าเป็นเธอ  เป็นของๆ เธอ

ภิกษุใหม่ผู้อาพาธ  กราบทูนว่า  ไม่ควรพระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  ดูกรภิกษุ  ก็เพราะสิ่งนั้นๆ มีตาเป็นต้น  ไม่ใช่เธอ  ไม่ใช่ของๆ เธอ  จึงไม่ได้สิ่งนั้นตามหวัง

อริยะสาวก  ผู้สดับแล้วอย่างนี้   รู้แล้วอย่างนี้ย่อมระอา   เหนื่อยหน่ายคลายความยินดี  ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง   สละปล่อยสละวางสิ่งทั้งปวง   มีตาเป็นต้น  มีสุขเวทนาทุกขเวทนา  เป็นที่สุด

อริยะสาวกนั้นแล  ย่อมบรรลุถึงธรรมวิเศษ  พ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวงแล

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงพระพจนะนี้แล้ว   ภิกษุใหม่ผู้อาพาธก็บรรลุถึงความเป็นอริยะ   รู้สิ่งที่เกิดดับ  คือว่ารู้ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา   สิ่งนั้นล้วนดับไปเป็นธรรมดา   มีความสละปล่อยวางสิ่งทั้งปวง   ไม่ยืดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวง   มีจิตใจผ่องใส   มีใจอันบริสุทธิ์   ดังน้ำในห้วงลึกกว้างใหญ่ใสสะอาด   บริสุทธิ์ฉะนั้น   เมื่อสิ้นลม  อัสสาสะ  ปัสสาสะ  ก็ไปบังเกิดสุคติโลกสวรรค์   อันเป็นที่สุดแล

เนื้อเรื่องทั้งสองนี้   ข้างต้นจะมีความแตกต่างกัน   แต่ข้างปลายลงอย่างเดียวกัน   เรื่องต้นคือพระสารีบุตรบอกสอน  อุบาสกอนาถปิณฑิกเศรษฐี  ให้สละปล่อยสละวางไปเลย  โดยไม่ได้ถามถึงอารมณ์สำรอง   ส่วนเรื่องที่สองภิกษุใหม่นั้น   พระพุทธองค์ทรงถามทวนให้มีอารมณ์สำรองหรืออารมณ์พื้นฐานเสียก่อน    แล้วจึงลัดเข้าหาการสละปล่อยสละวาง   ที่ว่าถามให้มีอารมณ์สำรองเสียก่อนนั้นอย่างไร   คือถามว่า   เธอไม่เดือดร้อนเพราะศีลของเธอที่เศร้าหมองหรือน่ารังเกียจบ้างหรือ   การที่พระพุทธองค์ทรงถามถึงศีลเช่นนี้   ก็เพื่อนำทางให้ท่านระลึกถึงศีลที่ท่านเพียนรักษามาด้วยดี  ด้วยการเข้าบวชในพระศาสนา  ตราบเท่าปัจจุบันที่กำลังอาพาธอยู่นี้ภิกษุใหม่  ท่านยังคงระลึกถึงศีลของท่านอันรักษามาดีเช่นนี้   ก็เป็นเห็นให้ท่านมีใจดี  มีจิตตั้งมั่น   เมื่อใจดีมีจิตตั้งมั่นฉะนี้   ก็เป็นอันยืนยันได้ว่าท่านมีอารมณ์สำรองแล้ว   และลำดับต่อไปจากมีอารมณ์สำรองแล้ว   พุทธองค์ก็นำเข้าหาความสละปล่อยสละวาง   เป็นขั้นที่สุด

อารมณ์ดีอารมณ์สำรองนี้   เปรียบเหมือนทุ่นหรือขอนไม้ที่ลอยน้ำ   สำหรับช่วยเป็นเครื่อง  พยุงคนไม่ให้จมน้ำ  และช่วยหนุนคนในการที่จะก้าวไปสู่ฝั่งฉะนั้น   หากคนผู้มีทุ่นหรือขอนไม้  เป็นเครื่องช่วยไม่ให้จมน้ำ   และหนุนเพื่อก้าวสู่ฝั่งเช่นนี้แล้ว   แต่ไม่ยอมสละปล่อยสละวาง  แม้ทุ่นหรือขอนไม้ที่ตนอาศัย  ก็จะขึ้นสู่ฝั่งไม่ได้   แต่เมื่อสละปล่อยสละวางทั้งหมดได้   จึงขึ้นสู่ฝั่งได้แล

สำหรับอุบาสกอนาถปิณฑกเศรษฐีนั้นพระสารีบุตรเถระ   ท่านมิได้สอนให้ระลึกถึงอารมณ์ดีเป็นอารมณ์สำรองก่อนเลย   ข้อนี้ก็ชอบแล้ว   เพราะว่าอุบาสกผู้นี้   ท่านมีอารมณ์ดีเป็นเครื่องสำรองอยู่พร้อมแล้ว   ทาน  ศีล  เมตตา  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  พร้อมบริบูรณ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในท่าน   จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้รู้ใดมาบอกมาสอน   ให้ท่านมีอารมณ์สำรอง  อย่างใดให้เกินกว่าที่ควร   และเสียเวลาโดยไม่มีผลอย่างใดขึ้นมาอิก

อีกประการหนึ่ง  ท่านอุบาสกผู้นี้   อารมณ์สำรองก็ไม่จำเป็นแก่ท่านเลย    เพราะแก้วอันประเสริฐคือ

พุทธรัตนะ  ธรรมรัตนะ   สังฆรัตนะ   เกิดขึ้นในใจของท่านอุบาสกผู้นี้แล้ว   ใจของท่านอุบาสกผู้นี้เป็นดวงแก้วสว่างอยู่ทุกเมื่อ   แก้วที่ใจหรือใจคือแก้วนี้   ดีกว่าเลิศกว่าแก้วภายนอก   ดีกว่าเลิศกว่าพระพุทธเจ้าข้างนอก  เพราะพระหรือแก้วข้างใน    นี้เป็นของแท้ของจริงแน้นอนอิกในหนึ่งว่าบารมีทั้งหลายก็อยู่ที่ใจของท่านนี้แล้ว   ที่อื่นนอกจากใจไม่มีเลย 

ขอย้อนกล่าวอารมณ์สำรองอีกสักน้อยหนึ่ง   อันว่าอารมณ์สำรองนี้นั้น   แม้จะไม่จำเป็นแก่ทุกท่านทุกคน   ในเวลาใกล้จะตาย   แต่ทุกท่านทุกคนก็จำเป็นที่จะต้องมีไว้    คือสร้างบารมีอันเป็นเครื่องสำรองไว้และยิ่งได้สร้างไว้มากเท่าไร  ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น  เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญ   หากเวลาใกล้จะตาย   การสละปล่อยสละวางไม่เป็นไปอารมณ์พื้นฐานหนุนได้ในเวลานั้น   บารมีแม้ไม้มากเพียงอย่างเดียว   มีศรัทธากระทำไว้ด้วยความไม่ประมาท   ก็ย่อมช่วยได้แท้

บารมี      นั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย   แสดงไว้มีสิบอย่าง   ได้แก่ทานการสละให้  ศีลปกติไม่เศร้าหมอง   เนกขัมมะการบำเพ็ญพรตถือบวช  ปัญญาความรอบรู้   วิริยะความอุสสาหะพากเพียร  ขันติความอดทน   สัจจะความมีใจจริง   อธิฏฐานะความตั้งจิตไว้ยิ่ง   เมตตาความมีใจเผื่อแผ่เอ็นดู   อุเบกขาความมีใจเป็นกลางมั่นคง

บารมี   แปลว่าเครื่องให้ถึงที่ดียิ่ง   คือถึงฝั่งบรมสุขที่พ้นทุกข์  คือพ้นโอฆาะสาคร   ด้วยการเวียนเกิดแก่  เจ็บตาย   โศกะปะริเทวทุกขะโทมะนัสอุปายาสฯ   บารมีสิบนี้พระพุทธเจ้าทุกๆ  พระองค์  สร้างไว้ดีแล้วทั้งนั้นไม่เว้นเลย

ปัจจุบันนี้   ในท้องที่บางแห่ง   นิยมสอนและแนะนำให้ผู้ใกล้จะตายระลึกถึง  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  เป็นที่หน่วง  คือให้ถือเอาเป็นอารมณ์สำรองนั้นเอง   ข้อนี้จะว่าไม่ดีก็ดีอยู่เหมือนกัน   และก็ดูเป็นการง่ายดีด้วย  คนที่ไม่ได้สร้างบารมีอะไรในชาติปัจจุบันนี้ไว้เลย   ก็ถือเอาเป็นอารมณ์สำรองเวลาใกล้จะตายได้   แต่ก็นั้นแหละ   คนที่ไม่รู้ว่าพุทโธเป็นอย่างไร   ธัมโมเป็นอย่างไร   สังโฆเป็นอย่างไร    หากได้ยินพระนามเพียงเปลือกๆ  ก็เกรงว่าจะไม่ได้ผลแน่นอน   เพราะพื้นฐานไม่มั่น   แต่ก็คงจะดีกว่าที่จะไม่ได้อะไรเสียเลย

สำหรับพุทธบริษัทที่เข้าถึงพระศาสนา   รู้เนื้อความในพระพุทธศาสนา   รู้ศีลธรรม  รู้พระพุทธคุณ   รู้พระธรรมคุณ   และพระสังฆคุณ  อันประเสริฐ   และมีความเลื่อมใสยิ่งแล้ว   หากระลึกถึงได้    ในเวลาใกล้จะตายก็เป็นทางที่ดีอยู่   ไม่ต้องสงสัยหรอก   ที่จะไปเกิดสุคติภพไม่ได้   พระพุทธองค์ตรัสว่า   จิตเต   อะสังกิลิฏเฐ   สุคติปาฏิกังขา   เมื่อจิตผ่องใสแล้ว   ย่อมจะไปเกิดสุคติ  ไม่ต้องสงสัยฯ

จึงเป็นอันว่า  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆนี้   เป็นอาราณ์สำรองเวลลาใกล้จะตายได้   พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  จึงเท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบารมีสิบอย่าง  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  จึงเป็นประหนึ่งสายเชือกแก้ว   อันสอดร้อยไว้ซึ่งพวงมาลา  แก้วคือบารมีทั้งสามสิบอย่างฉนั้น   หรือเป็นดั่งเชือกแก้วสามเกลียว   ข้างปลายทอดยาวยื่นหย่อนลงมาจากฝั่งบน   มาเชื่อมโยงกับบารมีทั้งสิบอย่าง   หรือเหมือนบรรใดแก้วทอดลงมาจากฝั่งบนก็ว่าได้   เพื่อให้ผู้มีบารมีจับกำปีนป่ายเหยียบย่างขึ้นฝั่งฉนั้นฯ

ท่านสรณาคม  สมัยกาลศาสนาขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าสิขี   ในกัปที่สามสิบเอ็ด   แต่ปัจจุบันถอยหลังไป  เป็นอาชีวก  เรื่องมีอยู่ว่า   อาชีวกผู้หนึ่งถือบวชนอกพุทธศาสนา   ได้ลงเรือไปกับหมู่คนเรือ   ผ่านยังสมุทกว้างถึงกลางสมุท   เรือถูกมรสุมคลื่นลมพายุโหม   และถึงแก่อับปางลง   ก่อนเรือจะอับปางลงนั้น   อาชีวกมีความหวาดกลัวต่อมรณะภัยมาก    เห็นภิกษุสาวกพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมา   ด้วยกันในเรือลำเดียวกันนั้น   ไม่มีอาการสดุ้งหวามกลัว   ภิกษุสาวกพุทธเจ้าได้บอกว่า   เราไม่กลัวเพราะเรามีสรณะอันประเสริฐ   คือพุทโธ   ผู้ตรัสรู้ธรรม  เป็นพระอรหันต์ไกลจากกิเลส   รู้ทั่วพร้อมรู้ที่สุด     และเบื้องต้นของสังขารทั้งหลายฯลฯ   อาชีวกได้สดับฟังจากภิกษุนั้นแล้ว   จึงขอสรณะบ้าง   ภิกษุได้ให้สรณะแก่เธอ   เธอก็รับเอาสรณะไป  คือพุทโธ   แม้ธัมโม  สังโฆ  ด้วยความเชื่อและเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง   ครั้นเรืออับปางลง   อาชีวกนั้นก็สิ้นชีพก็ไปเกิดในสุคติ   เพราะมีพุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  เป็นที่มายินดีแห่จิต     ให้จิตผ่องใสเป็นเหตุ ฯ  อาชีวกกล่าวดังนี้  ก็ถึงพุทโธ  มีพุทโธแบบข้างนอกนั้นเอง   แต่ที่เคารพเลื่อมใส   ก็ด้วยรู้ว่าพุทโธอันประกอบด้วยคุณ   มีไกลจากกิเลสเป็นต้น   และก็ถือเอาในฐานะพุทโธเป็นบุคคลผู้ตรัสรู้เอง    แนะนำโลกคือประชาชนให้รู้ตามฯ

ส่วนพุทโธที่แท้หรือพุทโธอย่างยิ่งคือใจของเราท่านนี้เอง   พบได้ถึงได้โดยไม่ต้องร้องเรียกหรือเที่ยววิ่งหา   ใจของเราท่านเป็นแก้วอันประเสริฐแล้ว  เป็นแกนในของสิ่งทั้งปวง   และประกอบกลืนสิ่งทั้งปวงอยู่   ถ้าเมื่อใดเรารู้เห็นใจของเรา   เมื่อนั้นเราก็รู้เห็นพระพุทโธ   และแม้พระธัมโม  พระสังโฆ  ใจเป็นธรรมอันประเสริฐไม่เกิด  ไม่แก่  ไม่เจ็บ  ไม่ตายไม่มีต้น  ใม่มีปลาย   ไม่มีอดีต  ไม่มีอนาคต  ไม่มีปัจจุบัน   ไม่มีในกาลทั้งปวง   เหนือกลางวันกลางคืน   เหนือแม้ฤดูกาล  จึงชื่อว่า อกาลิโก    เหมือนฟ้าเหนือดวงดาว  และนักษัตรฉะนั้น   ใจก็คือธรรม  พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  จึงเป็นภาวะเดียวกัน  เป็นแก้วดวงเดียวกัน     เป็นมตัง  อนันตัง   สว่างรุ่งโรจน์แจ่มใสอยู่ทุกเมื่อเหนือโลกทั้งปวงแลฯ

พุทโธ  ธัมโม สังโฆ  ที่ระลึกกันส่วนมากเป็น  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  เปลือกนอก   และดั่งอาชีวกที่ยกมา   เป็นตัวอย่างนี้นั้น   เป็นสรณะข้างนอก   ยังไม่เข้าถึงตัวในหรือตัวจริง  แต่ก็เป็นพุทธานุสสติ  ผู้ระลึกแล้วก็เป็นประโยชน์   และเมื่อใกล้จะตายก็ให้เกิดสุคติโลกสวรรค์   เพราะจิตใจผ่องใสเป็นเหตุ

ว่าถึงคนใกล้จะตาย   ถ้าจิตใจจะผ่องใสได้ด้วยเหตุอันใดก็ตาม  หากมิใช่ระลึกถึง  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  แต่ระลึกถึงอย่างอื่นมีทานเป็นต้น  แม้จะให้แก่นกแก่กา   จิตผ่องใสก็ไปเกิดสุคติโลกสวรรค์

ดั่งเช่นทลิททาชายเข็ญใจเกี่ยวหญ้าขายเลี้ยงชีพ   ได้มีน้ำจิตปั้นเข้าสุกปั้นหนึ่ง   ที่ตนจะกินกลางทุ่งนา  ให้เป็นทานแก่กาตัวหนึ่ง   เมื่อใกล้จะตายระลึกถึงบุญนี้อย่างเดียว  ได้ให้จิตผ่องใส   ก็ไปเกิดสุคติโลกสวรรค์  มีเทพอัปสรกัญญาประมาณพันนางแวดล้อม   เสวยสมบัติทิพย์  ณะแดนสวรรค์มีสุขมากแล

อาชีวกผู้มีจิตผ่องใส   ดั่งนำมาแสดงข้างต้นนี้   เป็นความผ่องใสแห่จิตระดับต่ำ  เป็นปุถุชนคนสามัญ

ส่วนอุบาสกอนาปิณฑิกเศรษฐี   และภิกษุใหม่ที่กล่าวมาข้างต้น  ผู้สละปล่อยสละวางก็มีจิตผ่องใสเหมือนกัน  แต่ฐานะหรือสภาพจิตสูงกว่าอาชีวก   เพราะอุบาสก  อนาปิณฑิกเศรษฐี   และภิกษุใหม่นั้น   ระดับจิตเป็นอริยบุคคลเหนือชนสามัญฯ

หากจะกล่าวระดับความผ่องใสแห่งจิตแล้วก็มี  ๓  ระดับ   คือระดับความผ่องใสของจิตปุถุชน   เป็นระดับต่ำ   ระดับความผ่องใสของจิตอริยะชนที่เป็นเสขะ  เป็นระดับกลางฯ  ระดับความผ่องใสของจิตอริยะชนที่เป็นอะเสขะ  เป็นระดับสูงฯ

จิตผ่องใสระดับต่ำ   มีกิเลสเช่นคนทั่วไป  ตายไปสู่สุคติสวรรค์  แต่หลังจากนั้นคติการเกิดไม่แน่นอน ฯ  จิตผ่องใสระดับกลาง  เป็นอริยะชน   ดับกิเลสได้บางส่วน  ยังมีเกิดอีก  แต่ไม่ไปเกิดในอบาย   และมีความแน่นอนที่จะพ้นทุกข์   และดับกิเลสได้สิ้นเชิงในกาลเบื้องหน้า ฯ  จิตผ่องใสระดับสูงเป็นอริยะชน  มีความพ้นทุกข์ได้สิ้นเชิง  ดับกิเลสได้สิ้นเชิงในกาลชาติปัจจุบันฯ

ขยายความในเรื่อง

คำว่าจิตหรือใจ   ความหมายอย่างเดียวกัน   คำว่าสละปล่อย  สละวาง  ก็คือจิตนั้นเอง  เป็นผู้สละปล่อยสละวาง  คำว่าใจไม่เที่ยงก็หมายถึงใจที่ประกอบด้วยอารมณ์  มีอวิชชาตันหาอุปาทานประกอบกัน

คำว่าพ้นหรือหลุดพ้น   ก็จิตนั้นเองพ้น   และพ้นจากกิเลสเป็นต้น    จิตนี้แลเมื่อระงับอาการนึกอาการคิด   และเกาะเกี่ยวอะไร ๆ แล้ว  ย่อมหลุดพ้นถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง   จิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง   พ้นไปจากสัพพะกิเลสสัพพะทุกข์ดับไป   ก็เหมือนผ้าขาวอันบริสุทธิ์   แยกออกจากกันแล้วจากเครื่องสกปรก   ที่มาจับต้องฉะนั้น   หรือจิตนั้นเป็นดั่งน้ำ  ทีแรกน้ำนั้นเป็นน้ำขุ่น   แต่เมื่อกลั่นกรองด้วยวิธีการแล้ว  ความขุ่นแยกตัวออกไป   คงเหลืออยู่แต่น้ำแท้ใสบริสุทธิ์  ฉะนั้นคือกลับเป็นใส

คำถามมีว่า   เมื่อจิตสละปล่อยสละวาง   สิ่งทั้งปวงรอบแล้ว  ไม่มีอะไรเกาะเกี่ยวเลยจิตจะอยู่กับอะไร  จะอยู่อย่างไรเล่า?

คำตอบมีว่า  เมื่อจิตสละปล่อยสละวาง  สิ่งทั้งปวงแล้ว   จิตจะมีที่อยู่ใหม่  และโดยไม่ต้องเกาะเกี่ยวอะไรเลย   คือเมื่อจิตสละปล่อยวางแล้ว   จิตจะแปรสภาพละลายตัว   จากความหยาบแค่นมาเป็นระเอียดอ่อน  และจะพบความสงบบริสุทธิ์ว่างจากสิ่งรบกวน  เหมือนน้ำแปรสภาพ  จากสิ่งที่ระคายที่ขุ่นที่เป็นคลื่น  กลับมาเป็นความสงบบริสุทธิ์  ใสสะอาดและสงบอยู่ในภาชนะฉะนั้นฯ  อนึ่งจิตที่สลัดสิ่งทั้งปวง  หรืออารมณ์ทั้งหลายแล้วจิต  ก็เป็นจิตเข้าสถานที่สงบจากโลก   เหมือนดั่งคนเข้าห้องนอนพักสงบ   ปิดประตูใส่กลอน  ไม่รับแขกไม่ยุ้งเกี่ยวกับใครๆ ทั้งนั้น  สงบปลอดภัยสุขสบายอยู่ฉนั้นฯ

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง   จะเป็นสังขารในอดีต  อนาคต  ปัจจุบัน  ก็ว่างเสมอกัน  เพราะความที่ดับไปโดยไม่เที่ยง   จึงเอาเป็นที่พึ่งแท้ไม่ได้

พุทธบริษัทส่วนมาก  ย่อมถือกันว่า  บาปควรละ  บุญควรบำเพ็ญ  ชั่วควรเว้นดีควรทำ   และเมื่อเวลาใกล้จะตาย  จะได้นึกถึงบุญนึกถึงความดี   แต่ในที่นี้  แนะให้ละให้วางทั้งสิ้น   ใม่เอาไม่เกาะอะไรเลย   จะเป็นผู้เปล่าประโยชน์ไร้แก่นสาร  ไม่มีที่พึ่งอะไรระหรือ 

จิตไม่ยึดถือ   สละวางไม่เกาะอะไรเลยนี้นี่แหละ   พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นที่พึ่งแท้แล้ว  ถึงแก่นถึงประโยชน์แท้แล้ว   ดังพระบาลี   ที่พระองค์ตรัสไว้ว่า   อะกิญจะนัง  อะนาทานัง  เอตังทีปัง   อะนาปะรัง   ความไม่กังวลห่วงใย  ความละวางไม่ยึดถือเกาะเกี่ยวอะไร   นี่คือที่พึ่ง  อื่นจากนี้ไม่มี

อันข้อความที่ว่า   ความไม่ยึดไม่ถืออะไรๆ  ไม่กังวลไม่ห่วงใย   ไม่เกาะเกี่ยวอะไรๆ  เป็นที่พึ่งแท้นี้  คนทั่วๆไปฟังแล้วมักไม่เข้าใจ  มองไม่เห็นช่องทาง  ว่าจะเป็นที่พึ่งแท้ได้อย่างไร  เพราะในโลกนี้อะไรเล่าจะไม่มีความยึดถือ   ถ้าปราศจากความยึดถือเสียแล้ว   ก็คงจะเป็นดั่งท่อนไม้ลอยไปตามกระแสน้ำ   ก้อนเมฆลอยไปตามกระแสลม   แต่ถ้าเราลองหยุดย้อนนึกถึงคนแบกของหนัก   เทียบดูสักหน่อยก็พอจะเข้าไจได้บ้าง   ธรรมดาคนแบกของหนักย่อมเป็นทุกข์  ทนได้ยาก   ทุกคนในโลกไม่มีใครชอบแบกของหนักไว้บนบ่าเลย   แต่ก็มีคนแบกอยู่   ความจริงแบกไว้นั้นมันหนัก   แบกมากก็ทุกข์มาก  แบกน้อยก็ทุกข์น้อย  ไม่แบกเสียเลยก็เบาสบาย  ขันธ์ห้ามีรูปเป็นต้น   หรือสิ่งทั้งปวงเป็นของหนักเป็นของร้อน  เป็นทุกข์   เมื่อปลงลงเสียละวางเสีย   จึงจะเบาจึงจะเย็นจึงจะสบาย  ความเบา  ความเย็น  ความสบายนี้แหละ  ทำให้รู้ว่าเป็นสุข

ความยึดถือเป็นทุกข์   และเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลายอื่น ๆ ด้วย   เมื่อปลงได้ละวางได้   คลายยึดถือได้   ไม่เกาะเกี่ยวอะไรได้  ก็ย่อมพ้นทุกข์   ความพ้นทุกข์นี้แหละจึงว่าเป็นที่พึ่งแท้แล   ข้อที่เกรงว่า   ปลงของหนักลงจากบ่าแล้ว   จะหลุดลอยไปเหมือนท่อนไม้ลอยไปตามน้ำ   ก้อนเมฆลอยไปตามลมก็หามิได้

ว่าถึงจิต   เมื่อปลงแล้วละวางแล้ว   ย่อมใสสะอาดขึ้นมาเอง   ความบริสุทธิ์ใสสะอาดแห่จิตนี้นี่แลเห็นได้ชัดว่าเป็นของจริงของแท้   เป็นเนื้อแท้แก่นสาร   เพราะว่างจากความยึดถือความเกาะที่เข้าไปหุ้มห่อจิต   ว่างจากอารมณ์   ว่างจากสิ่งที่เข้าไปแอบแฝงแปลกปลอม   อนึ่งจิตอย่างนี้จะเปรียบก็เหมือนฟิล์มถ่ายรูปที่บริสุทธิ์ขาวสะอาด   ถ่ายรูปไม่ติดรูปเพราะมีอากาศ   มีความสว่างเอิบอาบซึมซาบอยู่รอบฉะนั้น   จิตที่ละวางใสสะอาดพ้นจากทุกข์ก็ฉันนั้นฯ

ฟิล์มถ่ายรูปไม่ติดรูปแบบนี้  ทางโลกพูดกันว่าฟิล์มเสียไม่ดี   แต่เปรียบทางธรรมคือจิตนี้หมายถึงทางดีทางบริสุทธิ์ผุดผ่อง  ได้แก่ความพ้นทุกข์

สรูปความ  ในเวลาใกล้จะตาย  หลักใหญ่ข้อแรกก็คือ  ให้ละวางสิ่งทั้งปวงอย่างเดียว

ปัญหามีอยู่ว่า   ถ้าสละวางสิ่งทั้งปวงไม่ได้  หรือสละวางไม่ถูก  จะทำอย่างไร

ถ้าสละวางสิ่งทั้งปวงไม่ได้  หรือสละวางไม่ถูก  จงทำใจให้เป็นกลางเถิด

จริงอยู่บางคนอาจจะสละวางไม่ได้   ปฏิเสธอารมณ์ไม่ได้   ระงับความนึกคิดไม่ได้  ในเมื่อเป็นเช่นนี้  ก็ให้ยอมรับอารมณ์ที่เข้ามาหรือที่เกิดขึ้นนั้น   แล้วทำใจให้เป็นกลาง  โดยสำเนียกว่า  ทุกขเวทนาอันใดก็ตาม   หรืออารมณ์ดีร้ายอันใดก็ตาม  ทั้งหมดนี้  ล้วนเป็นสังขารไม่เที่ยง  อันว่าสังขารที่น่ายินดี   ก็กลับเป็นที่ไม่น่ายินดีได้  ที่ไม่น่ายินดี   ก็กลับเป็นน่ายินดีได้  ทั้งที่เป็นที่น่ายินดีและไม่น่ายินดีทั้งสองนี้   ก็เป็นอารมณ์อันเดียวกันนั้นเอง

สังขารที่เป็นที่รักที่ชอบใจ   ก็กลับเป็นที่ไม่ชอบใจได้   ที่ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ   ก็กลับเป็นที่รักที่ชอบใจได้  ทั้งเป็นที่รักที่ชอบใจ  และไม่เป็นที่รักไม่ชอบใจทั้งสองนี้   ก็เป็นอารมณ์อันเดียวกันนั้นเอง

เพราะเหตุนี้   จึงให้ทำใจให้เป็นกลาง   คือเป็นกลางในระหว่างสังขาร  ที่น่ายินดีและไม่น่ายินดีเท่าๆ กัน  ที่น่ารักและไม่น่ารักเท่าๆ กัน

อีกประการหนึ่ง   แม้สังขารสิ่งทั้งหลายเหล่านี้  ที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี  ที่น่ารักน่าชอบใจ  และไม่น่ารักไม่น่าชอบใจ   ก็มีความดับเป็นที่สุดรอบเสมอกันอีกด้วย

ความมีอยู่ของสังขารทั้งหลายในปัจจุบันก็เท่ากับไม่มี  ทั้งที่มีอยู่ทั้งที่ดับไปแล้ว   ทั้งสองนี้ย่อมมีความดับว่างเปล่าไปในที่สุดเสมอกัน   เพราะฉนั้นจึงให้ทำใจให้เป็นกลางในระหว่างสังขารทั้งสองนี้   ที่มีอยู่และที่ดับว่างเปล่าไปแล้วเท่าๆ กัน

ว่าย้ำถึงสังขารทั้งหลาย   ที่เป็นกลางอีกที  อันว่าสังขารทั้งหลายโดยจริง   หรือโดยสภาพแล้ว   ย่อมเป็นของกลางใครจะว่าบุญหรือว่าบาป  ว่าดีหรือว่าชั่ว  เข้าใจว่าเป็นบุญหรือบาป  ว่าเป็นดีหรือเป็นชั่ว   สังขารทั้งหลายก็เป็นกลางอยู่นั้นเอง   เรื่องของสังขารทั้งหลายก็มีอยู่   แต่ว่าเกิดขึ้นตามเหตุแล้วไม่เที่ยง   ดับว่างเปล่าไปในที่สุด  เท่านั้น

คนที่ไม่รู้ตามความเป็นจริงในสังขารทั้งหลาย   ในเวลาใกล้จะตาย   จิตไปเข้าใจว่าเป็นบุญเป็นบาป   เป็นดีเป็นชั่ว   ข้อนี้ไม่เป็นทางที่ควร   ถ้าไปเข้าใจว่าเป็นบุญเป็นความดี  เมื่อตายลงก็จะไปสุคติ   ถ้าไปเข้าใจว่าเป็นบาปเป็นความชั่ว  เมื่อตายลงก็จะไปคติตรงกันข้าม   แต่ถ้าไม่ไปเข้าใจว่าเป็นบุญเป็นความดี   และไม่ไปเข้าใจว่าเป็นบาปเป็นความชั่ว   ละวางสังขารทั้งหลายไม่ยึดถือเกาะเกี่ยว   ก็จะบรรลุอริยผล   ถ้าไม่บรรลุอริยผล  เมื่อตายลงก็จะไปสู่สุคติ

ที่ว่ากันว่าบุญว่าบาปว่าดีว่าชั่วนั้น  ก็คือสังขารทั้งมวล  ที่เป็นกลางเสมอกันหมดนั้นเอง   เมื่อจิตไปเข้าใจว่าเป็นบุญเป็นความดี   จิตก็มีหน้าชื่นตาใส   เหมือนกระจกแก้วขาวใสครอบดวงไฟไว้   เมื่อจิตไปเข้าใจว่า   เป็นบาปเป็นความชั่ว   จิตก็มีหน้าตาเศร้าหมอง   เหมือนกระจกสีหม่นมัวครอบดวงไฟไว้   ว่าบุญว่าบาปว่าชั่ว   จึงเป็นสังขารครอบสังขาร  โดยจิตเองไปหาเรื่องตกแต่งบุญบาปดีชั่วขึ้นมาเอง    ที่แท้บุญบาปดีชั่วก็คือ   อารมณ์หุ้มห่อจิต   อันจิตปรุงแต่งเสกสรรอารมณ์  ขึ้นมาห่อหุ้มตัวเองโดยสำคัญเข้าใจผิด

อนึ่งกรรมคือการกระทำที่คนทำแล้ว  ทางกายทางวาจา   ที่ว่าบุญว่าบาปว่าดีว่าชั่ว   นั้นเป็นสังขาร   เป็นกลางดับไปแล้วไม่มีแล้ว   ว่างเปล่าไม่มีแม้แต่ซาก  ใกล้จะตายจิตยังหันเหไปเข้าใจว่า   เราได้กระทำแล้ว   ซึ่งเป็นบาปซึ่งเป็นบุญ   ซึ่งดีซึ่งชั่วอันนั้นๆ  ข้อนี้ก็เท่ากับพาตัวเองให้หลงผิด   เช่นเดียวกับคนไปเห็นยอดไม้ปลายแหลม    ในที่ไม่ใกล้ไม่ไกล  ก็สำคัญเข้าใจว่านั่นปราสาท   ความจริงหาใช่ปราสาทไม่  ปราสาทไม่มี   แต่เพราะความสำคัญข้าใจผิด    ของคนผู้นั้นเองต่างหาก   โดยอาศัยยอดไม้เป็นเค้าเงื่อนสาเหตุเล็กน้อยเท่านั้น  แล้วสร้างสรรค์สิ่งอันไม่เป็นจริงขึ้นมาฯ

บางคนในอดิตที่ผ่านมา  ไปทำกรรมด้วยกายหรือด้วยวาจาที่น่าติเตียนของชาวโลกบางหมู่   เวลาใกล้จะตายก็นำมาคิดแล้วก็เศร้าหมอง   เกิดกังวลใจ  เข้าใจว่าตัวมีบาปมีความชั่ว  ข้อนี้ก็เช่นกับคนเห็นยอดไม้ปลายแหลม  ว่าเป็นปราสาทฉะนั้นฯ

ช่างเถอะถึงแม้จะคิดว่าตนเป็นคนมีบาปมีความชั่วก็ตาม   บาปหรือความชั่วนี้ก็ล้างได้ไม่ยากเลย   และก็ล้างได้ด้วยน้ำชนิดเดียวกันทั้นนั้น   ความสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่องจะได้เสมอกันหมด    เพราะน้ำล้างอย่างเดียวกัน   คือการสละวางสังขารทั้งหลายหรืออารมณ์ทั้งหลายอย่างเดียวกัน

การสละวางอย่างเดียวกันนี้เท่านั้น   ทางอื่นไม่มี   ทางมีทางเดียวเป็นทางยอดเยี่ยม  เป็นทางประเสริฐหาค่ามิได้

ความใสสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง  ความเป็นอริยะก็รวมอยู่ที่การสละวางนี้อย่างเดียว   เพราะเหตุนี้ในที่นี้   จึงแนะทางให้ท่าน  สละปล่อยสละวางอย่างเดียว

เมื่อสละปล่อยวางไม่ได้   หรือสละปล่อยวางไม่ถูก   ก็จงทำในใจให้เป็นกลางเถิด    เพราะการทำใจให้เป็นกลาง   ก็เท่ากับการสละปล่อยวางเหมือนกัน

เหมือนอย่างว่า  สูญ  เก้า  แปด  ( ๐. ๙ . ๘ ) สูญยอดเยี่ยมเทียมฟ้า   เก้ายอดเยี่ยมเทียมเมฆ   แปดยอดเยี่ยมเทียมเขาสิเนรุหิมพานต์   ในสามระดับนี้ไม่เท่ากัน

สูญ  สละปล่อยว่างสงบ   เมื่อสละปล่อยว่างสงบ   อันเป็นระดับยอดเยี่ยมไม่ได้   รองลงมาเป็นเก้า  ก็ยังประเสริฐอยู่  เก้าคือทำจิตให้เป็นกลาง

ส่วนแปดต่ำลงมา   หมายถึงสวรรค์   ไม่จำเป็นต้องไปปรารถนา  หากพลาดสูญ  หรือเก้า  ก็ย่อมจะได้อยู่เอง

ในหนังสือ  ๘ . ๐ . ๑  แผนที่บอกทางเดินได้แสดง  ๙ แทน  ๐  ได้  เก้ามีค่าเท่ากับสูญ  จิตสละวางว่างสงบ  กับทำจิตเป็นกลางก็ปานกันฉนั้นแล

เก้าแทนสูญได้อย่างไร   แทนได้ดังนี้  เช่น  ๐ + ๒ ได้สอง  ๙ +  ๒  ได้สิบเอ็ด (๑๑)  โดยที่สิบเอ็ดนี้เป็นเลขสองตัว   จึงให้บวกเลขสองตัว   ให้เหลือเลขตัวเดียวอีกทีหนึ่ง  คือเอาสิบเอ็ดที่เป็นเลขหนึ่งสองตัวบวกกันเข้า ๑+๑  ก็จะปรากฏเป็นสองเท่ากับ ๐+๒  เหมือนกัน  ๐+๒  และ ๙ + ๒  จึงมีผลเท่ากัน

เป็นอันว่า   การสำเหนียกทำใจให้เป็นกลางนี้   รองลงมาจากทำใจสสละปล่อยวาง    และการทำใจให้เป็นกลางนี้นั้น   จะว่าเป็นหัวหน้า   หรือยอดของบุญบารมีทั้งหลายก็ว่าได้   หรือจะว่าเป็นบุญบารมีรวมก็ได้

ส่วนอารมณ์สำรอง   คือกองบุญบารมี   อันกล่าวมาแล้วข้างต้น  มีทานเป็นต้น   ซึ่งเป็นบุญกิริยา   แม้จะเป็นสังขารภายนอก   อันล่วงลับไปหมดแล้วก็จริงอยู่   เมื่อมีโอกาศจะนึกทบทวนให้เป็นอารมณ์สำรอง   ไว้บ้างก็ควรอยู่   แต่อย่าเอามาเป็นอารมณ์ยึดมั่นเกาะเกี่ยว   ต้องถือหลักทำ  ใจให้สะอาดแจ่มใส   ด้วยการละวางเป็นสำคัญกว่า

จบ

แก้ไขล่าสุด (วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2014 เวลา 06:50 น.)