postheadericon ตอบคำถามคฤหัสถ์

 

 

 

 

 

 

 

ตอบคำถามบางข้อ

ถาม   ก็บางคนเป็นคฤหัสถ์ครองเรือน  ยังหนาด้วย    รัก  ชัง  หลง   ควรจะเจริญภาวนาด้วยหรือ?

ตอบ   จะเป็นคฤหัสถ์ครองเรือนฯ ก็ตาม  ไม่ใช่คฤหัสถ์         ครองเรือนฯก็ตาม   ก็ควรเจริญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง 

ถาม    คฤหัสถ์ผู้ไม่หน่ายในกาม ทั้งหลาย   ถ้าเจริญ  ภาวนาเดินตามทางเส้นนี้   เห็นจะไม่เป็นผลกระมัง เพราะใจยังไม่หน่าย ?

ตอบ   อย่าได้กล่าวเช่นนั้นเลย  ผู้ไม่หน่ายในกามทั้งหลาย เสียอีก  ควรจะเดินตามทางสายนี้ให้มากๆ 

ถาม    ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นเล่า ?

ตอบ     ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า  ผู้ที่ไม่หน่ายนั้นเป็นผู้ติดรส แห่งความสุข  ผู้ติดรสความสุข ก็คือผู้อยู่ใกล้นิพพานนั่นเอง   ผู้อยู่ใกล้นิพพาน  ย่อมทำให้แจ้ง ซึ่งนิพพาน ได้โดยง่าย  และเร็ว

  อนึ่ง หรือผู้ที่ติดรสความสุข  ก็คือผู้ที่ติดรสนิพพาน ก็ว่าได้   เพราะคำว่านิพพานๆ  เป็นชื่อของความสุข

ความจริงสุขที่ติดกันอยู่นั้นเป็นของมีอยู่   แต่อยู่เหนือโลก  ยังแต่ว่าผู้ติดสุขไม่ได้ติดตามสุขเท่านั้น  ติดตามกันแต่เหยื่อ  จึงไม่ได้สุข

   ถาม    ทำไมคนเราจึงติดสุขกัน ?

   ตอบ     เพราะสุขมีรสอันไม่ตาย  เป็นอมตะ  ไม่เปลี่ยนแปลง    ดั่งห้วงสมุทรมีรสเดียวคือ ความเค็ม

ถาม       ที่ว่าสุขอยู่เหนือโลกนั้น   หมายความว่าอยู่  บนฟ้า  เหนือแผ่นดินอย่างนั้นหรือ ?

ตอบ       เหมือนอยู่บนฟ้าเหนือแผ่นดิน   แต่ไม่ใช่อยู่บนฟ้า เหนือแผ่นดิน  กล่าวคืออยู่ที่ความว่างเปล่า แห่งจิต    เหมือนความนึกคิดนั่นเอง

 ถาม     ถ้าอย่างนั้นคำว่าโลก  โลกก็คือความนึกคิดนั่นซิ ?

 ตอบ    ถูกแล้ว   หมายถึงนึกคิด   ตามนัยนี้ฯ  

ถาม      ตามธรรมดาคนเราย่อมนึกคิดอยู่เสมอมิใช่หรือ   ไฉนผู้ปฏิบัติจะทำให้ปราศจากความนึกคิด  มิผิดหลักธรรมดาไปหรือ ?

ตอบ    ถูกแล้วผิดหลักธรรมดา   แต่ผิดหลักธรรมดาของผู้ ไม่ปฏิบัติ   ถูกตามหลักธรรมดาของผู้ปฏิบัติ

ถาม    ถ้าคนเราไม่มีนึก ไม่มีคิด  มิเป็นคนตายหรือ ?

ตอบ    ไม่ใช่คนตาย

ถาม     ถ้าคนเราไม่มีนึกไม่มีคิด   ก็เป็นคนนอนหลับใช่ไหม  ?

 ตอบ    ไม่ใช่คนนอนหลับตามนัยนี้

ถาม    ถ้าคนเราไม่มีนึก ไม่มีคิด  มิมืดตื้อหรือ ?

ตอบ    ไม่มืดตื้อ  ผู้ที่เข้าใจว่ามืดตื้อนั้น   ก็เท่ากับว่าผู้นั้นไม่ เคยเห็นความ สว่างของพระอาทิตย์เลย  แล้วหลงงม อยู่กับความสว่างของตะเกียงนั่นเทียว

 ถาม    ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น  ?

ตอบ   ก็กลางคืนคู่กับกลางวันมิใช่หรือท่านฯ   ข้อนี้แลฉันใด   ชนผู้ไม่ได้เดินทางเอก   ตามหลักภาวนาแล้วก็เหมือนอยู่ในความมืด   คือกลางคืน   ส่วนชนผู้เดินทางเอก   ตามหลักภาวนาแล้ว   ก็เหมือนอยู่ในความสว่าง   คือกลางวัน   เป็นดังเช่นนี้แหละท่าน

ถาม    ความสว่างของผู้เจริญภาวนาหลุดพ้นแล้ว   จะไม่มืด บ้างเลยเจียวหรือ  ?

ตอบ   ไม่มืดเลย  มีแต่ความสว่างฝ่ายเดียว

ถาม    ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  ?

 ตอบ    ฟังก่อนท่าน   การที่ท่านจับอยู่กับแผ่นดินนี้มิใช่หรือ   จึงต้องมีกลางคืนบ้าง กลางวันบ้าง   ก็หากว่าท่านมีมนต์วิเศษ   ทำแผ่นดินนี้ให้แหลกละลายให้หมดไปได้   หรือว่าหลีกห่างออกจากแผ่นดิน   ไปอยู่กับพระอาทิตย์ได้   ท่านก็จะไม่เห็นกลางคืนเลย  จะเห็นแต่กลางวันฝ่ายเดียวเท่านั้น 

จิตผู้อัน ต่อยสังขารให้แหลกละลาย  ไหม้หมด ไปได้ก็ฉันนั้นฯ

 ถาม     ถ้าคนผู้เจริญภาวนา   ยังต่อยสังขารให้แหลกละลาย ไหม้หมดไปไม่ได้  จะมีผลอย่างไรบ้าง ?

  ตอบ    อย่าได้ถามถึงผลเลย   ชื่อว่าการเจริญภาวนาแล้ว  ย่อมมีผลมี อานิสงส์ทุกเมื่อ   ยิ่งเดินก็ยิ่งได้  ยิ่งไป ก็ยิ่งถึง 

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ภาวนา  เมื่อบุคคลเจริญแล้ว  ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่  ภาวนา เมื่อจะเปรียบเทียบกับผลบุญเหล่าอื่น  คือ  ทาน  ศิล  แล้วก็พึงได้ในคำว่า 

พันน้ำบ่อทราย  ไม่เท่าหนึ่งน้ำแม่   พันน้ำแม่ไม่เท่าหนึ่งน้ำสมุทร

ข้อนี้ก็หมายความว่า   พันแห่งทาน   ไม่เท่าหนึ่ง แห่งศิล   พันแห่งศิล  ไม่เท่าหนึ่งแห่ง  ภาวนา

ถาม     เมื่อเราทำจิตให้หลุดพ้นจากสังขารทั้งปวงแล้ว   มิเป็นอันว่า ไม่ต้องรู้อะไรกันหรือ  ?

ตอบ     รู้อะไรๆ ได้ทุกอย่าง

ถาม    ถ้ารู้อะไรๆ ได้ทุกอย่างแล้วไซร้    ความที่รู้นั้นไม่ใช่   รู้ด้วยความนึกคิดดอกหรือ   ไม่ใช่สังขารดอกหรือ ?

ตอบ    จะว่ารู้ด้วยความนึกคิดก็ใช่   จะว่าไม่รู้ด้วยความนึกคิดก็ใช่   จะว่าสังขารก็ใช่   จะว่าไม่ใช่สังขารก็ใช่

ถาม    ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ?

ตอบ   ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะว่า   ความนึกคิดนั้นมันแตกกันไปคนละอย่าง   ต่างกันไปคนละนัย    ความนึกคิดของผู้ที่ยังไม่หลุดพ้นนั้น   เป็นความนึกคิดที่ชุ่มด้วยยางเหนียว   และจมอยู่ในความมืด   คิดนึกอันใดก็คิดอันนั้น   ไม่รู้อันนั้น   จมลงไปในอันนั้น   ไม่เห็นรอบอันนั้นเหมือนต้นไม้ที่มีราก   หรือเหมือนน้ำที่หยาดลงไปในแผ่นดิน 

   ส่วนความนึกคิดของผู้ที่หลุดพ้นแล้วนั้น   เป็นความนึกคิดที่ตรงกันข้าม  ด้วยมีความสว่างฉายอยู่รอบ   นึกคิดอันใดก็รู้อันนั้น   เพราะความรู้นั้นครอบงำเสียแล้ว   ซึ่งความนึกคิดนั้น   แม้นึกคิดอันใดก็ไม่ติดไม่จม   เหมือนต้นไม้ที่ไม่มีราก   หรือเหมือนน้ำที่หยาดลงไปในใบบอน

   อนึ่งความนึกคิดของผู้หลุดพ้นแล้วนั้น  แม้จะนึกคิดขึ้นที่เรียกว่าสังขาร   ความนึกคิดนี้  ก็เป็นเพียง  กิริยากรรมเท่านั้น   และใช้นึกคิดขึ้นก็เพื่อประโยชน์  ไม่ทำให้เดือดร้อน   เช่นเดียวกับไฟที่ผู้จุดขึ้น  เพื่อใช้ในการหุงต้มเป็นต้น   เมื่อเสร็จแล้วๆ ก็ให้ดับไฟเสียฉะนั้น

ถาม     ก็ไฟเป็นของร้อนมิใช่หรือ ?

ตอบ   จริงอยู่ไปเป็นของร้อน   แต่ผู้จุดขึ้นนั้นย่อมแตกต่างกัน   ผู้ที่ไม่รู้ซิ  จุดขึ้นก็ไม่รู้ตัวจุดไฟขึ้น  ครั้นจุดขึ้นก็ไม่ใช่ผล   ครั้นจุดขึ้นแล้วก็ไหม้ตัวเอง   และไหม้สิ่งต่างๆ  อันเป็นของๆตัว  และจุดขึ้นแล้ว ก็ดับ ไม่ได้ด้วย   ฉะนั้น  ความนึกคิดแม้จะเป็นดังว่า  ไฟก็ยังแตกต่างกันไกลดังนี้ฯ

ถาม   นิมิตตารมณ์  คืออะไร ?

ตอบ   นิมิตตารมณ์  คือสิ่งที่ปรากฏแก่ใจ  มีรูปเป็นต้น

ถาม     จิตกับใจ ต่างกัน  หรือเหมือนกัน ?

ตอบ     ต่างกันโดยคำที่ร้องเรียก  เหมือนกันโดยเนื้อความ

ถาม    ต่างกันโดยคำที่เรียกเหมือนกัน   โดยเนื้อความนั้นอย่างไร?     มีอุปมาอย่างไร ?

ตอบ   มีอุปมาได้ดังนี้   เช่นมีของชนิดหนึ่ง ลักษณะสัณฐานคล้ายขวดใส่น้ำ   บุคคลเอาน้ำเชื้อเพลิงใส่ข้างใน แล้วทำชนวนล่อ ออกมาอีกข้างหนึ่ง  สำหรับจุด ในยามมืด  ชนจำพวกหนึ่งเรียกร้องสิ่งนี้ว่า ตะเกียง  อีกจำพวกหนึ่งเรียกว่าโคม

ที่แท้ก็ของอันเดียวกันนั่นเอง   ต่างกันแต่คำที่เรียกร้อง   เหมือนกันโดยเนื้อความ  ดังนี้ฯ

ถาม   สังขารกับวิญญาณ   ไม่ใช่หมายอันเดียวกันดอกหรือ  และสังขารมีลักษณะอย่างไร ?   วิญญาณมีลักษณะเป็นอย่างไร ?

ตอบ   ไม่ใช่หมายอันเดียวกันดอก   สังขารมีลักษณะแล่นไป   วิญญาณมีลักษณะตามรู้

ถาม   จิตกับสังขาร   ไม่ใช่อันเดียวกันดอกหรือ ?   ได้ยินว่า  จิตก็นึกคิด   สังขารก็นึกคิด   ฟังดูก็ใกล้กัน ?

ตอบ    ไม่ใช่หมายอันเดียวกันดอก   ฟังดูก็ใกล้กันจริง  ไม่ใช่แต่เพียงฟังใกล้กันเท่านั้น   แม้ตัวจริงแห่งจิต และสังขารก็ใกล้กัน

  จริงอยู่จิตก็นึกคิด   สังขารก็นึกคิด  แต่ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน  เพียงแต่สังขารหากไม่มีจิต   สังขารก็เกิดขึ้นไม่ได้  สังขารที่เกิดขึ้นก็คือจิตนั่นเอง   เป็นผู้นึกคิดขึ้น และเมื่อสังขารดับ   จิตก็หลุดพ้น  ดังนั้นจึง  เรียกสังขารว่าความนึกคิด   เรียกจิตว่าผู้นึกคิด   ความนึกคิดกับผู้นึกคิด  จึงไม่ใช่อันเดียวกัน

ถาม    เมื่อจิตปราศจากนึกคิดหลุดพ้นแล้ว   จะเป็นอะไร  ?   เรียกว่าอะไร ?

ตอบ      เมื่อจิตปราศจากนึกคิดหลุดพ้นแล้ว   ก็ไม่เป็นอะไรแล้ว   และก็เรียกว่า   จิตปราศจากนึกคิดหลุดพ้นแล้วนั่นเอง หรือจะเรียกว่าอย่างอื่นก็ได้   แต่ความจริงหมดสมมุติแล้ว   ลูบคลำไม่ได้

ถาม     ข้อที่ว่า   สังขารดับวิญญาณก็ดับ   วิญญาณดับจิตก็หลุดพ้น   ข้อนี้พอจะอุปมาได้ไหม ?

ตอบ     พอจะอุปมาได้อยู่

ถาม     ถ้าอย่างนั้น  ขออุปมาให้หายความข้องใจหน่อย   ?

ตอบ   ถ้าอย่างนั้น    ก็จงตั้งใจฟังให้ถี่   ดังต่อไปนี้

               เหมือนมีพรานคนหนึ่ง   เสาะจับปลาในหนองน้ำกับด้วยมือข้างหนึ่ง   ถือคบไฟตามส่องในท่ามกลาง แห่งกลางคืน   พรานนั้นเสาะจับแล้วจับเล่าซึ่งปลาใส่ถุงของตน   เพลินจับอยู่จนไม่รู้สึกตัว   แท้จริง สิ่งที่พรานเพลินเสาะจับอยู่นั้น   หาใช่ปลาไม่  ล้วนแต่งูพิษทั้งสิ้น   ปลาไม่มีในหนองน้ำนั้น   แต่พรานนั้นก็ยังเมาเสาะจับเพลินอยู่   เพราะเข้าใจว่าปลา   และปลามีในหนองน้ำนั้น   เธอมัวเมาเสาะจับอยู่จนสว่างแจ้ง จวบพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว   เธอจึงสลัดปลาเสียสิ้น  ละเลิกการเสาะจับปลา  แม้คบไฟที่ตามส่องอยู่ในมือนั้น  จะมีประโยชน์อะไรอีกเล่า  ก็เมื่อสว่างแจ้งเป็นกลางวันแล้ว  ไฟนั้นจึงให้ดับไปตามเธอจึงเป็นผู้ไม่เสาะจับปลาในหนองน้ำนั้นแล

ก็อาการที่พรานสละสลัด   เลิกจากการเสาะจับปลาในหนองน้ำนั้น   อันนี้อุปมาเช่นกับสังขารดับไป   คบไฟที่ให้ดับตามไปนั้น  อันนี้อุปมาเช่นกับ  วิญญาณดับไปตาม   ส่วนพรานที่เป็นผู้สละสลัดเลิกจากการเสาะจับปลาอยู่   อันนี้อุปมาเช่นกับจิตที่หลุดพ้นแล้วมีอยู่

สังขารดับ  วิญญาณดับ  จิตหลุดพ้น   ดังมีอุปมา   ฉะนี้แลฯ

ถาม    มรรค   แปลว่ากระไร  ?

ตอบ     แปลว่า   ทาง

ถาม   ผู้ที่เจริญภาวนา   จะต้องเจริญมรรคทั้ง  ๘  ให้ครบถ้วนทุกองค์ไหม  ?

ตอบ   ต้องเจริญให้ครบถ้วนทุกองค์

ถาม    ถ้าอย่างนั้น  คฤหัสถ์ผู้ทำศิลให้หมดจดทุกองค์ยังไม่ ได้    ก็ยังเจริญภาวนาไม่ได้ซิ  ?

ตอบ      อย่าได้คิดอย่างนั้นเลย   ผู้เจริญภาวนาก็คือ    ผู้ที่เจริญมรรค  ๘   นั่นแล้ว   มรรค  ๘   จะอื่นจากใจไปไม่มี   ฉะนั้นมรรคทั้ง ๘  ก็คือตัวภาวนานั่นเอง   ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า    มคฺคานฏฐงฺคิโก  เสฎโฐ

หนทางอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘    เอกายโน  อยํ  ภิกฺขเว  มคฺโค   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   นี้เป็นหนทางอันเดียว

ดังนั้นภาวนาก็คือทางอันเดียวประกอบด้วยองค์  ๘ 

นั่นแหละ   องค์  ๘  ก็คือทางอันเดียวนั่นแหละได้

ตามโคลงบท นี้ทีเดียว

   สเปาคำลำเดี่ยวนั้น   แลนา

   ช้อนช่วยชนประชา     รอดม้วย

   ส่งสู่ฝั่งพารา              แดนเกษม

   ชาติพยาธิ์แก่ด้วย        รอดพ้น  นาเฮ

บรรยายธรรม  โดย  พระคุณเจ้า  ดาบส  สุมโน


แก้ไขล่าสุด (วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2014 เวลา 00:23 น.)