postheadericon แบบภาวนา “ ดับทุกข์ “

แบบภาวนา “ ดับทุกข์ “

ภาวนา คืออะไร ? ภาวนาคือ การกระทำให้มีให้เป็นขึ้น กระทำอะไรให้มีให้เป็นขึ้น คือกระทำนิพพานให้แจ้งนั่นแหละ เรียกว่า ภาวนา
เมื่อมาเอ่ยคำว่านิพพานๆ ดูเหมือนคำว่านิพพานนี้เป็นของไกลจากพวกเรา เสียเหลือเกิน

ที่จริงไม่ไกลเลย อยู่ใกล้เราที่สุด ใกล้ยิ่งกว่าตากับขนตาเสียอีก แต่เพราะ เราไม่รู้ทางไปถึงจึงว่าไกล

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อคำว่านิพพานเลย เพราะนิพพานคำนี้ เป็นชื่อของความสุข ที่แท้นิพพานก็อยู่ที่จิตหลุดพ้นปราศจากนึกคิด ที่เรียกว่าสังขารนั่นเอง ดังพุทธองค์ตรัสแก่พราหมณ์ว่า สงฺขารานํ ขยํ ยตฺวา อกตญฺญูสิพฺราหฺมณ แปลว่าท่านรู้ความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว จักรู้นิพพานที่ปัจจัยทำไม่ได้นะ พราหมณ์ฯ

เป็นอันว่าเมื่อเรามาฝึกหัดทำใจ ให้ปราศจากนึกคิด คือสังขารได้ตามหลักภาวนา ก็ย่อมจะถึงนิพพานได้ โดยไม่ต้องสงสัย เพราะนิพพานใช่เมืองฟ้า เมืองพรหมที่อื่นแต่ เมืองฟ้าเมืองพรหมที่ใจนี่เอง

ที่เรียกว่า ภาวนาๆ ขอผู้ฟังอย่าเบื่อหู รำคาญใจ หากผู้ฟังเข้าใจในคำว่า ภาวนา ภาวนาด้วยการปฏิบัติถูกดีแล้ว คำภาวนาจะกลับทำให้ผู้ฟังมีความสุข

พึงรู้ไว้ก่อนเถิดว่า การภาวนามิใช่ว่าจะนั่งหลับตาทำกันเสมอไป จะนอนหรือเดิน จะยืนหรือจะทำกิจอื่น จะพูดหรือจะดื่ม ถ่าย เป็นเรื่องของภาวนาทั้งสิ้น และอยู่ได้เสมอ บางคนเข้าใจผิดไปว่า ต้องนั่งขัดสมาธิหลับตาทำเสมอไป จึงจะเป็นภาวนา แล้วก่อนจะภาวนาก็ทำพิธีรีตรองกันเสียใหญ่โต จึงกลายเป็นทุกข์เป็นยาก และดูเหมือนจะกลายเป็นของขลังไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง บ้างก็นั่งภาวนาเพื่อเอาบุญไว้โลกหน้า ทั้งนี้ก็เนื่องจากความยึดมั่นถือผิดนั่นเอง จะเป็นที่ประสงค์อันแท้จริงของพระพุทธเจ้าก็หาไม่

การภาวนาอันเป็นกิจของใจนี้ แม้จะไม่จำกัดอิริยาบถก็จริงอยู่ แต่เบื้องต้นก็ควรจะหัดนั่ง และหลับตา เพราะใจเป็นวัตถุละเอียดนัก รู้เห็นได้แสนยาก แต่เมื่อหัดจนเคยจนคุ้นแล้ว มันก็จะเป็นของมันเองทุกอิริยาบท จึงควรมีสติ สัมปชัญญะทุกเมื่อ

อนึ่งผู้หัดนั่งในเบื้องต้นนั้น ควรจะเลือกนั่งให้ได้ที่ และพยายามตั้งเรือนร่างให้ตรง เพื่อป้องกันความโยกคลอน และไม่ควรรองสิ่งใดด้วย จักได้ผลดี

อนึ่งเล่า การภาวนา ไม่ใช่ว่าจะจำเอาคำต่างๆ มารำพึงท่องบ่นไว้ในใจ บางคนพอนั่งภาวนา ก็จำเอาคำต่างๆมารำพึงท่องบ่น เช่น จำเอาพระนามของ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มารำพึงท่องบ่นโดยว่า พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง หรือคำอื่นๆอีกเช่น พุทโธระหัง อะระหังพุทโธ ดังนี้เป็นอาทิ

ผู้เจริญภาวนาปฏิบัติธรรม เมื่อยังเอาคำใดๆ มาว่าอยู่เช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กมันท่องหนังสือ ชื่อว่าพุทโธ นกขุนทอง ฉะนั้นจึงกล่าวว่าไม่เข้าร่องรอย แห่งสันติวรบทพุทธปฏิปทา คือหนทางที่ประเสริฐ อันไปสู่ความสงบ ที่ผู้รู้ทั้งหลายดำเนินมาแล้ว มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น เขานั้นย่อมไม่พ้นจากการเป็นผู้ถูกเรียกว่าหมกจม คือหมกจมอยู่ด้วยการยึดมั่นถือผิด และไม่พึงมีโอกาสที่จะประสบสันติธรรม อันปลอดภัย กับรู้เท่าสังขารได้

อันการที่มาท่องบ่นอยู่เช่นนี้ มักเป็นการปิดประตูมิให้เข้าถึง โลกุตรธรรมโดยแท้ทีเดียว แม้ว่าเขาจะรำพึงท่องบ่นคำเหล่านั้น สักร้อยล้านหน ก็ไม่พึงได้ที่พึ่งถึงฝั่งภพ ต้องเหนื่อยเปล่า เมื่อไม่พึงได้ที่พึ่งถึงฝั่งภพ ผู้เป็นเจ้าแห่งเขาคือตัณหา ก็ย่อมบันดาลให้เข้าต้องวนไป เวียนมา อยู่รอบนอกขอบฝั่งนั่นแหละ หาที่พึ่งที่จอดมิได้ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อปฺปกาเต มนุสฺเสสุ เยชนา ปารคามิโน อถายํอิตราปชา ดีรเมวา นุธาวติ ความว่ามนุษย์ชนเหล่าใด ผู้ไปถึงฝั่งมีจำนวนน้อย ส่วนชนนอกนี้ๆ เป็นผู้เลาะเลียบอยู่ตามริมฝั่งดังนี้

ที่จริงเขาเหล่านั้นๆก็ต้องการที่จะถึงฝั่ง อันเป็นที่พึ่งที่จอดอยู่เหมือนกัน แต่เขานั้นกลับเป็นผู้ปิดประตูเสียแล้ว เดินออกห่าง เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่ไหน พระจะโปรด อย่าว่าแต่จำเอาคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรืออรหัง เป็นต้น มาท่องไว้ในใจเลย แม้เป็นผู้นึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ และ อรหัง ซึ่งยิ่งไปกว่านี้ ก็ยังไม่เป็นผู้ถึงพระคือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ และ อรหัง เป็นที่พึ่งได้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ แปลว่ากระไร ? อรหัง แปลว่าอะไร ? ถ้ายังไม่เข้าก็ขอให้ไปถามผู้รู้ดูเถิดฯ นึกถึงไม่ใช่ใจถึง นึกถึงเมืองนอก แต่ตัวอยู่อยู่เมืองใน จะชื่อว่าถึงเมืองนอกได้แล ต้องสงบนึกคิดทั้งปวง นั่นแหละใจจึงจะถึง พึงรู้ดังนี้

วิสงฺขารกตํ จิตฺตํ
ความนึกคิดอันไม่ปรุงแต่งจิตแล้

วิญฺญาณสฺส นิโรเธน
ความรู้แจ้งอารมณ์จึงดับ 

วีโมกโขเจตโสอาห
ใจจึงหลุดพ้น

เป็นอันว่าสังขารตัวนึกคิดเท่านั้น เป็นเจ้ากี้เจ้าการ เป็นตัวก่อตัวปรุง ฉะนั้นสังขารนี่แหละที่ผู้ปฏิบัติ จะต้องต่อย ต้องทำลายให้มันหมดไหม้หายละลายไป 

สังขาร คืออะไร ? สังขารก็คือ ความนึก ความคิดนั่นเองก็แลความนึกคิดนี้ ก็มีความเป็นไป ๓ อย่างคือ นึกคิดที่เป็นไปในความขาวอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปในความดำอย่างหนึ่ง และที่เป็นไปในความกลางๆอย่างหนึ่ง

ที่แท้สังขารคือความนึกคิดนี้ ก็ได้แก่กิริยาที่จิตหน่วงเหนี่ยวไว้ ซึ่งนิมิตตารมณ์นั่นเอง หรือจะว่านิมิตตารมณ์คือ ความนึกคิดก็ใช่

รวมความแล้ว ความนึกคิดเท่านั้นที่ผู้ปฏิบัติ จะต้องต่อย ต้องทำลายให้สงบระงับหมดไหม้ละลายไป

สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา ฯ
เพราะสังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง 

สงฺขารูปสมํ สุขํ
ความเข้าไประงับสังขารเสียได้เป็นสุข
ดังนั้นจงฝึกทำจิตของตนตามแบบภาวนากันเถิด

จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ
เพราะจิตที่ฝึกถูกดีแล้ว นำสุขมาให้

พระคุณเจ้า หลวงพ่อดาบส สุมโน

แก้ไขล่าสุด (วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2013 เวลา 14:11 น.)