postheadericon วิธีแยกจิต

wp 20130227 050alt

วิธีแยกจิตกับอารมณ์
จิตกับอารมณ์เป็นเรื่องละเอียดสุขุมจะแยกออกจากกันไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ร้ายที่สุดก็คือคนที่ไม่ยอมเชื่อว่า จิตกับอารมณ์จะแยกออกจากกันได้ โดยสำคัญว่า จิตกับอารมณ์เป็นอันเดียวกัน 
ความจริง จิตกับอารมณ์ไม่ใช่อันเดียวกัน และแยกออกจากกันได้ อารมณ์เป็นสิ่งที่มาทีหลัง อาคันตุเกหิ เป็นสิ่งที่จรเข้ามาจับต้อง เหมือนฝุ่นธุลีสิ่งสกปรกเข้ามาจับต้องผ้าขาว หรือแก้วที่สุกใสแวววาว ทำให้ผ้าขาวหรือแก้วนั้นเปลี่ยนลักษณะไป คือกลายเป็นของเศร้าหมอง หรือจะว่าสภาพเดิมหายไปก็ใช่ 
อารมณ์นั้นมี ๒ คือที่ชอบใจและไม่ชอบใจ และเป็นไปในกาล ๓ คือปัจจุบันกาล อดีตกาล อนาคตกาล
อารมณ์นั้นเข้ามาระหว่างตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส
อารมณ์นั้นเข้ามาแล้ว  แล้วก็มาติดมาค้างอยู่ในจิตในใจ ไม่หายไปง่ายๆ จิตใจเป็นดังผ้าขาวหรือดวงแก้ว ก็กลายเป็นสิ่งเศร้าหมองไป
อารมณ์แปลว่าความยินดี หรือธรรมชาติที่มายินดีแห่งจิต ได้แก่ รูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส เมื่อจิตยินดีก็บังเกิดเป็นจิตสังขารขึ้นมา และก็กลับเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตอีก อารมณ์มีตัณหาอุปาทานเป็นแก่นใน จึงผสมผสานเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา สำเร็จเป็นตัวนึกคิด หรือตัวห่วงตัวอาลัยจึงเป็นไปในอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ในปัจจุบันบ้าง
ต่อเมื่อท่านผู้ใดมารู้จักอารมณ์ แล้วกำหนดละวางอารมณ์ ไม่นึกถึงเรื่องที่เป็นอดีต และไม่นึกถึงเรื่องที่เป็นอนาคต และไม่นึกถึงเรื่องที่เป็นปัจจุบันได้ ท่านผู้นั้นก็จะพบความว่าง พบความสงบ มีจิตเป็นตัวของตัวเอง ย่อมพ้นทุกข์ทั้งปวง
อุคคเสน บุตรเขยของช่างฟ้อน พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอจงละวาง ห่วงอาลัยในอดีต ละวางห่วงอาลัยในอนาคต ละวางห่วงอาลัยในปัจจุบัน จะเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ มีใจพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ไม่ต้องเข้าถึงชาติและชราอีก
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสจบลง อุคคเสนผู้ยืนอยู่บนปลายแผ่นไม้ ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ทันที
การละ การวาง ก็คือละวาง ไม่นึกน้อมไปในสิ่งทั้ง ๕ นั่นเอง มีรูปเป็นต้น เมื่อใดละวาง ไม่นึกถึง ไม่คิดหา เมื่อนั้นอารมณ์ก็หายไป ความที่อารมณ์หายไปนั่นเอง จิตได้แยกตัวออกจากอารมณ์แล้ว จิตนั้นก็จะเปล่งปลั่ง สุกใส ไม่หายไปไหน ดังผ้าขาวและแก้วอันได้ ซักฟอกกปัดเป่าดีแล้วนั่นแล
บางคนบอกว่า ปล่อยวางให้จิตว่าง ไม่นึกคิด อะไรๆ เลยทำไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอาจิตไปไว้ที่ไหน ต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เสมอ
จริงอยู่นี่ก็เป็นเรื่องของคนส่วนมาก ว่าไปก็คือไม่รู้จักอารมณ์ ไม่รู้จักจิตนั่นเอง เหมือนคนไม่รู้จักแกลบ ไม่รู้จักข้าวสาร ก็ไม่อาจจะแยกได้ในเมื่อสิ่งนั้นปนกันอยู่

อารมณ์เป็นสิ่งที่ต้องละทิ้ง จิตเป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้งเหมือนแกลบ กับข้าวสารนั่นเอง ละทิ้งอารมณ์ได้ ก็ย่อมจะพบจิต จะพบจิต ก็ต้องทำให้ว่าง จากอารมณ์
ว่าถึง ผู้ปล่อยวางละทิ้งอารมณ์ไม่ได้ หรือละวางยากจะหันไปดูจิตว่างอย่างเดียวไปเลยก็ได้ เป็นวิธีมุ่งขุดคุ้ยหาจิตว่างอย่างเดียว เป็นสัจฉิกาตัพพันต์ หมายความว่าทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมชาติ ที่สงบ ที่ประณีต วิธีนี้ไม่ต้องไปสนใจ กับการปล่อยวางละทิ้งอารมณ์ เมื่อมุ่งใจหาความสงบ ความประณีตมันจะเป็นการตัด อารมณ์นึก อารมณ์คิดไปในตัว เช่นเดียวกับเราเห็น แสงสว่างอยู่เบื้องหน้า แล้วเดินเข้าไป จนถึงที่สว่าง ความมืดจะหายไปเอง
ความจริง จิตว่างจากอารมณ์นั้นมีอยู่แล้ว เป็นของเดิม แต่ไม่ปรากฏชัดเป็นนามธาตุ มีความบริสุทธิ์และ ใสสว่าง อยู่ในตัวเหมือนดวงแก้วมณี ไม่มีรักมีชังมาก่อน เมื่อเราต้องการจะขุดคุ้ยหากันจริงๆ ก็ย่อมจะพบได้
จิตเดิมแม้ไม่มีรูปร่าง สูงต่ำ ดำแดงอย่างใด ก็ยังบ่งบอกความสุขสงบ ของตัวเองให้รู้อยู่บ้าง เช่นเวลารู้สึกตัวตื่นจากหลับ หรือเวลาก่อนจะหลับ จิตยังมิได้คิดอะไร และจิตสู่ภวังค์ขาดความคิด นั่นบ่งบอกถึงสภาพเดิมว่าเป็นธรรมชาติสงบ ผุดผ่องไม่มีอารมณ์นึกอารมณ์คิด มีอยู่แล้วแต่เพราะเราไม่มีเวลาที่จะ ทรงความรู้สึกนั้นไว้ได้
มีอยู่แล้ว อย่างไร ที่ไหน คือมีอยู่คู่กับความรู้สึกตัว และทั่วไปในความรู้สึกตัว
การขุดคุ้ยค้นหานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตามหา พุทโธ พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้เบิกบาน ผู้เป็นตัวของตัวเอง ผู้เป็นไท ไม่เป็นทาสใคร พุทโธ ก็คือ จิตนั่นเอง
อย่างไรก็ดี จิตนั้นไม่มีรูปร่าง รู้เห็นได้ยาก แต่ก็จิตนั้นละเอียด สงบ มีความสะอาดผุดผ่อง รู้เห็นได้ พบเห็นได้ ผู้เข้าถึงจะรู้ จะพบเห็น หลับตาโน้มจิตก่อนจะเข้าหาแหล่งว่าง ให้ถามรูปละเอียดดูก่อนคือ นึกถึงรูปละเอียด นึกขึ้นมาเป็นรูปนิมิต พอให้เห็นว่าเป็นรูปคือเป็นรูป คือเป็นวัตถุที่ไม่มีวิญญาณ สักว่าเป็นของลอยอยู่ ในความว่างเพื่อเอาเทียบกัน รูปละเอียดที่เห็นนั้นจะบอกว่า ตูข้านี่แหละ อาศัยความว่าง ความสงบอยู่ ตูข้าไม่เที่ยง ตูข้าไม่ใช่ของจริง ความว่างนั่นแหละเที่ยง ความว่างสงบนั่นแหละของจริง ท่านจงผละจากตูข้าไปอยู่กับความว่าง ความสงบเถิด
ความว่างไม่มีรูปร่าง ไม่เป็นใน ไม่เป็นนอก ไม่เป็นใกล้ ไม่เป็นไกล ไม่ใช่ทิศนั้นทิศนี้ ความว่างเป็นที่อยู่ของจิตดับทุกข์ ไม่มีความยึดถือเกาะเกี่ยวอะไรๆ 
ความว่างเป็นเรือนว่างที่อิสระ สงบ เป็นสุข ปลอดภัย ผู้พบความว่างย่อมพบพุทโธ ผู้พบพุทโธ ก็คือผู้พบจิตเดิม ผู้พบจิตเดิมย่อมจะ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ต่อไปอีกแล
เมตตาธรรม โดยพระคุณเจ้าหลวงพ่อดาบส สุมโณ
ลูกขอ กราบ กราบ กราบแทบเท้า หลวงพ่อ ด้วยเศียรเกล้า สาธุ สาธุ ขอให้ลูกได้พบจิตเดิม จิตแท้ ในชาติปัจจุบันนี้ ด้วยเทอญ

ศึกษา สมาธิว่าง
ความว่างไม่ใช่ความตาย ไม่ใช่ความยากจน 
ความว่างไม่ใช่เรื่องสุดท้ายของชีวิต คนส่วนมาก มักเข้าใจกันว่า ความว่างไม่มีความสำคัญอะไรกับชีวิต หรือไม่ก็เข้าใจว่า ความว่างเป็นเรื่องสุดท้ายของชีวิต นี่เป็นความเข้าใจผิดไปแล้ว
ความว่างมี ๒ คือของชาวบ้านกับของนักบวช
ชาวบ้านก็ดี นักบวชก็ดี ความว่างมีความจำเป็นตลอดกาล เริ่มแต่มีชีวิตอยู่ และแต่เกิด เช่นที่อาศัย เรือนนอน ถิ่นฐาน ร้อนจัด เย็นจัด อากาศเป็นพิษเป็นภัย ไม่ได้สายลมสายแดดพัดผ่าน ก็จะเป็นอันตรายแก่ชีวิต แม้สร้างบ้านสร้างเรือน ก็ยังต้องมีทิศทางและป่องอากาศ ป่องลม บางเรือนยังมีเครื่องปรับอากาศอีกด้วย
สัตว์น้ำ ถ้าน้ำแห้งหรือน้ำเป็นพิษ สัตว์น้ำก็อยู่ไม่ได้ สัตว์บก ถ้าไม่มีอากาศ หรืออากาศเป็นพิษก็อยู่ไม่ได้ ทุกนาทีต้องสูบอากาศเข้าอยู่เสม 
ที่สำคัญยิ่ง คือคนเราต้องมีอากาศหล่อเลี้ยงหัวใจ และเป็นอากาศที่ดีด้วย เด็กคลอดออกมาจากครรภ์มารดา ถ้าไม่ได้สูบอากาศเข้าไป ก็จะเป็นคนขึ้นมาไม่ได้ อากาศความว่าง เป็นสิ่งที่ต้องหล่อเลี้ยงชีวิตไปจนถึงวันสุดท้าย
แม้สัพพสังขาร เช่น ต้นไม้ พืชพันธุ์นานา ถ้าตั้งอยู่ในความว่างไม่ดีที่ๆบดบัง ต้นไม้พืชพันธุ์เหล่านั้น ย่อมไม่เจริญตามธรรมชาติ ลำต้นไม่สมบูรณ์ กิ่งใบไม่สมบูรณ์ ดอกผลไม่สมบูรณ์ และเป็นโรคต่างๆ นั่นเพราะไม่ได้อากาศดี
โดยธรรมดา คนที่มีความสุข ก็คือคนว่าง ทุกคนไม่รู้จักความว่าง แต่ก็ยินดีต่อความว่าง เพราะความว่างเป็นความอิสระ เป็นไทยแก่ตัวเอง นายงานเห็นลูกงานทำงานหลบๆ หลีกๆ มักจะกล่าวหาว่า เป็นไอ้ขี้คร้าน ทุกคนต้องได้รับการพักผ่อน ให้ชีวิตอยู่กับความว่าง ความว่างช่วยต่ออายุสืบต่อไปได้อีก ความว่างไม่มีใครรังเกียจ เพราะความว่างให้ความสุขแก่คนทุกคน
ความว่าง บางครั้ง เราเรียกว่าโอกาส เช่นพูดว่าคราวนี้โอกาสให้ โอกาสอำนวย เราจึงได้ไปนั่นไปนี่ได้พบคนนั้น ได้พบคนนี้ คนมีโอกาสมากว่ากันว่าเป็นคนมีบุญ 
ข้าราชการเป็นข้ารับใช้เจ้านายมานาน พออายุ ๖๐ ปี เขาก็ปลดออก ให้เป็นอิสระให้เป็นตัวของตัวเอ
นักโทษที่อยู่ในคุก พอพ้นโทษ ออกจากคุก (เรือนจำ ) ไปก็ไม่มีใครอยากจะกลับเข้าไปอยู่ในคุกอีก ความว่างเป็นความ อิสระทุกคนจึงต้องการ
ความว่างไม่ใช่ความยากจน
ความว่าง เหมือนกับคนมีทรัพย์ หรือเหมือนคนมีทุนทรัพย์เป็นเดิ
คนมีทรัพย์ ย่อมจะหมดความกังวลในเรื่องความทุกข์ ความเข็ญใจ ซึ่งต่างกันกับคนขาดทรัพย์ คนขาดทรัพย์ ย่อมจะคิดอยู่เสมอ กลางวันก็คิด กลางคืนก็คิด คิดแล้วก็ตัน ทำให้มืดมน
ส่วนคนมีทรัพย์ จะคิดอะไร ก็ย่อมจะสำเร็จได้แม้ไม่คิดอะไร นึกถึงทรัพย์ ก็ภาคภูมิใจว่าแม้มีความขัดข้องเกิดขึ้น ก็ย่อมจะใช้ทรัพย์ ขจัดความขัดข้องนั้นได้ ผู้มีทรัพย์จึงมีแต่ความเอิบอิ่มผ่องใส และมีแต่จะพูดดี ทำดี คิดดี มองเห็นโทษเห็นคุณ คนมีใจว่างย่อมผ่องใส ตายจากโลกนี้ย่อมไปสุคติ
โดย พระคุณเจ้าหลวงพ่อ ดาบส สุมโณ

แก้ไขล่าสุด (วันพุธที่ 13 มีนาคม 2013 เวลา 14:06 น.)