postheadericon สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ

สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ

นะโมตัสสะภะคะวะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะฯ

จะได้กล่าวถึง สมาธิ สองอย่าง สมาธิสองอย่าง  ที่จะกล่าวถึงนี้  ก็คือการทำสมาธิที่ถูกอย่างหนึ่ง กับการทำสมาธิที่ผิดอย่างหนึ่ง  สมาธิที่ถูกเรียกว่า สัมมาสมาธิ  สมาธิที่ผิดคือผิดทาง เรียกว่ามิจฉาสมาธิ  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการทำสมาธิ ที่ตนกระทำนั้นเป็นทางที่ผิด หรือเป็นทางที่ถูก  ข้อนี้ก็มีหลักวินิจฉัย  จะกล่าวในที่นี้ก็คือ สมาธิที่ถูกต้อง คือการรู้จักขันธ์ ๕  การรู้จักละ ปล่อยวางขันธ์ทั้ง๕ มีรูปเป็นต้น อันนั้นเป็นสมาธิที่ถูก แต่สมาธิที่นอกจากที่กล่าวมานี้ เป็นสมาธิที่ผิด คือเป็น มิจฉาสมาธิ   คนบางคนทำสมาธิหรือการ เจริญภาวนา  ก็อยาก ให้เห็นผล อันนั้นเห็นผล อันนี้ อยากเห็นสวรรค์ เห็นนรก  เห็นเทวดา เห็นพรหม  เห็นเปรต เห็นอบาย เห็นอสุรกายอย่างนี้เป็นต้น  การเห็นนั้นมีหรือไม่ ที่อยากจะเห็นสรรค์ เห็นนรก  ก็มีเหมือนกัน ไอ้ที่ทำสมาธิแล้วเห็นนั้นเห็นนี่ เห็นสวรรค์ เห็นนรก มีเหมือนกัน แต่มันเป็นผลพลอยได้  จากการเจริญสมาธิ  ส่วนการภาวนาสมาธิที่ถูกต้องนั้นคือ เราต้องวินิจฉัยว่าเรารู้ขันธ์ ๕ ปล่อยวางขันธ์ ๕ ได้จริงหรือไม่  ถ้านอกจากที่กล่าวมานี้ ย่อมตัดสินได้ว่า เป็นสมาธิที่ผิด คือผิดทาง ผิดทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน  บางคนทำสมาธิอยู่ ไม่เห็นบังเกิดผลอย่างไร ไม่เห็นนั่น ไม่เห็นนี่  ไม่มีอิทธิฤทธิ์ ไม่มีปาฏิหาริย์  มันก็เกิดความเดือดร้อน คือความอยากขึ้นมา ก็อยากไปเรียน สมาธิใหม่ อยากจะไปแสวง หาครูบาอาจารย์ ที่มีความรู้ ความสามารถ พิสดาร เห็นสวรรค์ เห็นนรก  หรืออะไรต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว  บางคนก็ต้องไปขึ้นครู ขึ้นบา ตั้งขันธ์ ขึ้นครูก็มี ฉะนั้นก็ไปกันใหญ่แล้วคือไม่พบพระพุทธองค์ ในขณะนั้น สมัยนั้น  พระพุทธเจ้าเรา ไม่มีการให้ขึ้นครู ไม่มีการยกขันธ์   เมื่อพระคุณเจ้าบวชใหม่ๆ ก็มีคนมาชักชวนทำน้ำมนต์ ให้ขึ้นครู ให้ขึ้นขันธ์๕ เวลาจะภาวนาก็พรหมน้ำมนต์ให้   ก็มาพิจารณาว่าจะผิดทางไปเสียแล้ว  พระพุทธเจ้าเราไม่ใช่ว่าจะต้องขึ้นครู ขึ้นขันธ์ แบบนั้น แบบนี้  ธูปเทียนต้องเท่านั้น เทียนต้องเท่านี้  ก็เป็นอันรู้ได้ว่ามันเป็นทางที่ผิดไปเสียแล้ว ผิดไปตั้งแต่เบื้องต้นทีเดียว เพราะฉะนั้นการเรียกรรมฐาน สมาธินั้น ความจริงแล้วก็ไม่ใช่ว่าเป็นการพิสดาร หรือลึกซึ้งอะไรกันนักหนา จะต้องไปขึ้นครูขึ้นบาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  พระพุทธเจ้าท่าน  สอนให้ละให้วาง  ให้รู้จักขันธ์ ๕  รู้จักละวางขันธ์ ๕ นี้อย่างเดียวเท่านั้น นี่เป็นส่วนสุด คนบางคนทะเยอทะยานไปไม่รู้จักจบจักสิ้นอย่างนั้น มันก็มีเหมือนกัน อาจเป็นกันมาตั้งแต่อดีตชาติก็ไม่ต่างอะไรกับภิกษุ รูปหนึ่ง ในสมัย พระพุทธเจ้า ก็มีภิกษุรูปนั้น ชื่อ ปาปโก เมื่อได้บวชในพระพุทธศาสนา  อุปัชญาก็ตั้งชื่อให้ว่า ปาปโก ทีหลังมาภิกษุอันอันได้ชื่อว่าปาปโกนี้มาได้ยินคำกล่าวของบางคนบางกลุ่มว่า ปาปโกมันไม่ดี  มันเป็นชื่อของคนไม่ดี ควรจะหาชื่อใหม่  เมื่อภิกษุปาปโกมาได้ยินดังนี้ ก็รู้สึกว่ามันจะเป็นจริงก็ว่าชื่อปาปโกเป็นชื่อที่ทำให้เดือดร้อน  หรือความหมายไม่ค่อยจะดี มันคงจะไม่มีความเจริญ  ก็เมื่อคิดดังนี้ก็ไปหาอุปัชญา  ขอให้อุปัชญาเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ อุปัชญาเมื่อฟังดังนั้นก็บอกว่า  คุณปาปโก ไอ้ชื่อนั้นมันไม่สำคัญหรอก  ชื่อมันไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ หรือเสื่อมประโยชน์อะไรได้  มันเป็นสัญลักษณ์ ความหมาย แห่งการเรียกร้องกัน อันเป็นสมมุติ บัญญัติ อยู่ในโลกนี้เท่านั้น จะตั้งชื่อใหม่ให้ดี มีประโยชน์ เสียประโยชน์ ก็หาทำได้ไม่ ชื่อดีหรือชื่อชั่ว มันไม่ใช่สิ่งสำคัญ  ภิกษุ ปาปโกก็ไม่ยอมก็ขอ เปลี่ยนอยู่นั้นแหละ ทีนี้ก็เลยไปหาพระพุทธเจ้า  ท่านก็ว่าเออภิกษุปาปโกเมื่อเธอเป็นอย่างนี้อยากจะหาชื่อใหม่  เมื่อชาติก่อนเธอก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน  ในชาติก่อนเธอก็ชื่อ ปาปโก  ไปเรียนธรรมะศึกษา ศิลปะวิทยาในสำนักของเราในคราวครั้งนั้น เราก็เป็นอาจารย์สอนศิลปะวิทยา ก็มีลูกศิษย์มากหลาย   แล้วก็เธอคนหนึ่งก็ชื่อว่าปาปโก ก็อยากจะขอชื่อใหม่  อาจารย์ก็ให้ไปหาชื่อเอาเอง  ให้เธอเที่ยวไปในที่ต่างๆ  ต่างๆบ้าน  ต่างๆเมือง ให้เธอสอบถามชื่อดู ว่าพอใจชื่ออันใดแล้วเราจะตั้งชื่อให้ใหม่   ทีนี้ปาปโกก็ทำดังนั้น  เมื่อกราบลาพระอาจารย์แล้ว ก็เที่ยวไปสอบถามคนทั่วๆไปนั่นแหละ  ก็เที่ยวไปทั่วชมภูทวีป ก็เจอชื่ออันนั้น ชื่ออันนี้ ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ก็มีมากหลายเหลือเกิน ทีนี้ก็ไปพบกับชายผู้หนึ่ง ถูกหาม กำลังจะนำไปเผาที่ป่าช้า  ปาปโกนั้นก็ถามว่าคนที่ตาย นั้นชื่ออะหยัง ผู้ที่หามไปนั้นบางคนบอกว่า คนที่ตายนั้นชื่อว่ารอด   ท่านปาปโกพอได้ฟัง ดังนั้น  ก็ว่าชื่อรอดทำไมมันตาย   ชื่อรอดมันต้องไม่ตายซิทำไมมันตาย ก็คิดในใจอืม ชื่อรอดก็ยังมาตาย  ช่างมันก็เดินทางต่อไปอีก ถามไปคนนั้นก็ชื่อนั้น คนนี้ก็ชื่อนี้ ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งกำลังถูกเขาทุบเขาตี ก็ทำไมผู้หญิงคนนี้ ถึงถูกเขาทุบตีละ   ก็เพราะกลัวว่าจะหนีนั่นแหละ เขาจับได้  จึงมัดตีนมัดมือ   เพราะว่าไปยืมเงินเขามา  สัญญาว่าใช้คืนให้   พอถึงกำหนดสัญญา  เมื่อไม่มีจะให้ เจ้าหนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างใด ก็ทุบก็ตีนั่นแหละ มัดมือมัดเท้าไม่ให้หนี  เงินก็ไม่ใช่หนักใช่หนาอะไร   แต่ว่ามันหาไม่ได้ท่านปาปโกก็ถามว่าคนที่ถูกเฆี่ยน ตีนั้นชื่อ อะหยัง ก็ได้ความว่าคนที่ถูกเฆี่ยนตีนั้นชื่อ วรรณรภ  หรือชื่อว่ามี คือมีทรัพย์ นั่นแหละ ทีนี้ปาปโกก็ว่า เอะชื่อว่ามั่งมี ทำไมหาให้เขาไม่ได้ ชื่อว่ามีทรัพย์ทำไมมันจน  ก็เกิดปัญญาขึ้นมาในใจละว่า ชื่อว่ามีทรัพย์ ทำไมมันจนเงินแค่นี้ทำไมหาให้เขาไม่ได้ก็ต้องมาถูกเฆี่ยนถูกตี   ท่านผู้ฟังทั้งหลาย  ท่านปาปโกก็เก็บเอามาคิดในใจว่าโอ้! ชื่อดีมีมงคลมากนักหนา แล้วทำไมถึงมาจน จึงเดินเลยต่อไปอีก ไปเจอคนหลงทาง  ก็ถามว่าเธอชื่ออะหยัง  คนหลงทางก็ตอบว่า ชื่อเจนทางหรือ ชำนาญทาง  รู้จักถนนอะไรดีนั่นแหละ  เขาชื่อเจนทาง  ปาปโกก็เอะ ชื่อเจนทางทำไมหลงทาง  ชื่อชำนาญทางก็ทำไมมาหลง  ชื่อดีก็ใช่ว่าจะดี  ชื่อไม่ดีก็ใช่ว่าจะชั่วคนชื่อชั่วก็ไม่ใช่ว่าจะดี  ปาปโกก็คิดกลับไปกลับมาว่า  ที่เราไล่ไปถาม  ทั่วบ้านทั่วเมืองนั้น ก็มาคิดในใจว่า ชื่อชั่วก็เท่านั้น  ชื่อดีก็เท่านั้น ไม่รู้จะตั้งชื่ออะหยังละ  สู้ชื่อปาปโกไม่ได้ เขาตั้งชื่อให้ปาปโกก็ดีแล้ว  ไม่เอาละชื่ออี่นก็เท่านั้น  ไม่ใช่ว่าจะดีขึ้นมาได้  คนเรามันไม่ใช่ดีขึ้นเพราะสิ่งสมมุติ   ในที่สุด  ก็กลับไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็ว่าอ้าวคุณปาปโก  ไปทั่วชมพูทวีป ไปได้ชื่อดีๆมาแล้วหรือยัง  ท่านผู้ฟังทั้งหลาย  ก็ชื่อนั้นมันมีมาก  แต่ว่า ข้าพเจ้าไม่เอาละ ชื่อใหม่ไม่เอาละ  ขอเอาชื่อเหมือนเดิมนั่นแหละ  จะชื่อดีวิเศษอย่างใด มันก็เท่านั้น  ชื่อปาปโกนี้ก็ดีละ ในที่สุดเขาก็มาเอาของเก่านั้นแหละ  ศรัทราญาติโยมท่านผู้ฟังทั้งหลาย  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยกเรื่องนี้ขึ้นมาเทศนา ให้ภิกษุปาปโกฟัง  ภิกษุปาปโกก็เข้าใจดีแล้วว่า  เรื่องของสิ่งสมมุติที่มีขึ้นมาในโลกนี้ ก็ใช่ว่าจะ สมมุติขึ้นมาแล้วจะดีมีประโยชน์  สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ภิกษุนั้นเมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ก็เลยไม่กระวลกระวายที่จะเปลี่ยนชื่อต่อไป  ทีนี้ย้อนกลับมาถึง กรรมฐาน  ภาวนา หรือนั่งสมาธิ ก็เบื้องต้น ไม่ใช่ว่าจะมีอะไร   เบื้องต้นที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นทางที่ถูก คือว่ามาดูผลจากขันธ์ ๕ การปล่อยวางขันธ์๕   ขันธ์๕ คือ รูป เวทนา สัญญา  สังขาร วิญญาณ  หรือเรียกย่อๆ  ก็คือ รูปหนึ่ง นาม สี่  หรือย่อต่อออกไปอีกทีหนึ่ง  อารมณ์ กับกาย  หากอารมณ์เป็นสิ่งที่ควรรู้ ควรปล่อยวาง  ถ้ากำหนดรู้อารมณ์  กำหนดรู้กาย  ปล่อยวางอารมณ์  ปล่อยวางกาย  ละวางอารมณ์  ละวางกาย  ให้ว่างจากอารมณ์ ให้ว่างจากกาย หรือว่างจากรูป จากนาม  ก็จะเข้าถึงธรรมอันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนา  ท่านผู้ฟังทั้งหลาย ท่านพระคุณเจ้า ก็กล่าวมาโดยย่อๆ ถึงเรื่องว่าคนบางคนมาคิด ว่าการทำสมาธิเป็น  ของดีของวิเศษ เห็นจะต้องไปหาทำอย่างนั้นอย่างนี้  จะได้เห็นสวรรค์ เห็นนรก  ตาจะได้สว่าง รู้แจ้งเห็นจริง   บรรลุเป็นพระโสดาบัน  สกิทาคามี   อนาคามี  หรือพระอรหันต์  ในโลกนี้ ก็เลยไปตามตัญหา ความอยากไป ก็เรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิ  เป็นอันว่า สมาธิที่พระคุณเจ้ากล่าวมาโดยเนื้อความย่อๆว่า คือมิจฉาสมาธิและ สัมมาสมาธิก็ขอยุติลงด้วยประการละฉะนี้

ท่านพระคุณเจ้าดาบส  สุมโน 

อาศรมไผ่มรกต.com